ReadyPlanet.com


รุ่งอรุณ ณ สนธยา


 รุ่งอรุณ ณ สนธยา

 

โดย เขมานันทะ

 

บทนำ

 

สิ่งที่อุบาสกพันธ์ อินทผิว หรือบัดนี้คือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มีความอุตสาหะแนะนำผู้คนเป็นจำนวนมากให้ได้รู้เห็นและเข้าใจนั้น ดูจะผิดแผกแตกต่างจากสำนักอื่น ๆ  ทั้งในประเทศนี้และสำนักอื่น ๆ ในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงข้อปลีกย่อย แต่ต่างกันโดยหลักและดังนั้นกลวิธีในการปฏิบัติจึงต่างกันแต่ต้นจนจบ แม้กระนั้นสิ่งที่ท่านกล่าวก็ยังหาใช่ลัทธิใหม่อะไรไม่ ทั้งยังได้ประมวลเอาแก่นสารของธรรมของทุก ๆ ฝ่ายเข้าหากัน แต่ก็หาใช่โดยถ้อยคำหรือปรัขญาที่ปรองดองเข้าหากันไม่ ทั้งนี้เพราะการที่ท่านได้เข้าถึงอมฤตธรรมนั้นโดยปราศจากครู ปราศจากพิธีรีตองและทั้งยังครองชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ทั่วไปอยู่ในช่วงนั้นนั่นเอง ที่ทำให้คำชี้แนะของท่านไม่โยกโคลง ไม่ปรองดอง จนกล่าวได้ว่า สิ่งที่ท่านรู้หามีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธไม่ ยิ่งไปกว่านั้น กล่าวเน้นลงไปว่า ก็หาใช่พระพุทธศาสนาไม่ ดังนั้นย่อมส่อว่าเป็นสัจจะที่เป็นสากลไม่ขึ้นกับกาลเวลา เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ เลย ท่านได้เน้นเรื่องนี้ทุกครั้งในการสั่งสอน และพยานในเรื่องนี้ก็คือสมัยท่านได้ไปแสดงสัจจธรรมที่ประเทศสิงคโปร์ คำสอนของท่านและอิริยาบทของท่านเองได้เป็นที่ประทับใจชาวสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้ชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่งได้อุทิศตนเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของท่าน แม้ว่าช่วงที่ท่านอยู่สั่งสอนที่นั่นจะสั้นมากก็ตามที

 

การถึงอนุตรสัมมาสัมโพธิของอุบาสกพันธ์ อินทผิว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า เป็นไปภายในคืนเดียวเท่านั้น ทำให้บุรุษผู้ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้นี้ กลายเป็นอาจารย์ของทั้งนักบวช คฤหัสถ์ และภรรยาที่รักของท่านได้รู้แจ้งเห็นจริงตาม และเธอได้ช่วยหญิงชาวบ้านให้เข้าใจตามกำลังความสามารถที่เธอมีจนวันสุดท้าย

 

เมื่อสมัยที่ พระพันธ์ อินทผิว หรือบัดนี้ใคร ๆ รู้จักท่านในนามของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้เดินทางไปสิงคโปร์หนแรก ท่านได้พบปะกับยามาดะ โรชิ ผู้เป็นผู้นำของพุทธศาสนานิกาย ZEN ในปัจจุบัน มีการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะต่อกัน ในครั้งนั้น ใคร ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักปฏิบัติฝ่าย ZEN ที่สิงคโปร์แทบทั้งหมด ได้เห็นบางอย่างอย่างเด่นชัด อันเป็นเหตุให้หันมาติดตาม และเป็นสานุศิษย์ของท่านโดยสมัครใจ สิ่งที่ ZEN ใฝ่ฝัน พระพันธ์ ได้ช่วยให้เขารู้ความจริงที่ยิ่งกว่า นอกจากกลุ่ม ZEN แล้ว ยังมีบาทหลวงหนุ่ม ๆ ผู้ใฝ่หาสัจจ์ และอิสรชนจำนวนหนึ่ง ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำอยู่อย่างเงียบ ๆ  ทั้งที่สิงคโปร์ออสเตรเลีย และฮาวาย

 

แก่นคำสอนของพระพันธ์นั้น ชี้ตรงไปสู่แก่นของชีวิต ถึงสภาพที่เป็นอยู่แล้วในคนทุก ๆ คน ไม่เว้นใครเลย จะเป็นปุถุชนหรือพระพุทธองค์ ก็เป็นอันนั้นอยู่แล้วเสมอกัน แต่เพราะความหลงผิดไปจากธรรมอันนั้น จึงได้สร้างความจริงอื่นผิดไปจากอันนั้น แล้วแสวงหาภายใต้การนำของความคิด แยกแยะ ซึ่งรังแต่จะไม่รู้ยิ่งขึ้น แต่ถึงจะรู้หรือไม่รู้ ธรรมอันที่เป็นอยู่แล้วนั้นก็หาได้เป็นอื่นไปไม่ ข้อนี้เองที่ท่านได้สอนกลวิธีจำเพาะที่จะเร้าความรู้สึกตัวหรือสภาพซึ่งรู้ได้นี้ให้แสดงตัวออกมาทั้งหมด และเป็นกลวิธีง่าย ๆ  โดยให้รู้เห็นการไหวเคลื่อนของกาย-จิต จนกระทั่งสภาพรู้ได้นี้มีกำลังไวพอที่จะทำงานทางจิตใจได้เอง ในทุกครั้งที่มีความคิดเกิดขึ้น ญาณในลำดับก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อได้รู้เห็นสมุฏฐานของความคิด กล่าวง่าย ๆ  ว่า รู้จักใจได้แล้ว ไม่ใช่เพียงสร้าง ภาพ ของใจขึ้นจาก พจน์ คือ คำพูด หรือ คำที่คิดขึ้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นเพียงการอนุมาน คล้อยตามความคิดไป ซึ่งอันนี้ถือเป็นวิปัสสนูอุปกิเลส คำพูดการอธิบายธรรมทั้งหมดในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดเป็นอุปสรรคครอบคลุมของจริงเอาซึ่ง ๆ หน้า

 

ในเรื่องนี้ พระพันธ์มีความเข้าใจชัดและมีมติว่า ธรรมแท้นั้นรู้เอาล่วงหน้าไม่ได้ เพียงรู้คิดนั้นยังห่างไกลธรรมราวฟ้ากับดิน ทั้งนี้เพราะเกิดเมาสมมติ เมาถ้อยคำ เมาเหตุผลที่สร้างขึ้นโดยปราศจากสภาวะรองรับ ต่อเมื่อความคิดได้ถูกแลเห็นแล้ว และไม่มีเรื่องไม่ใช่เรื่องอะไรไม่มีอะไร มีอยู่แต่การรู้ล้วน ๆ  เห็นล้วน ๆ  ต่ออารมณ์ที่เข้ามาในรูปของความคิด (นามรูป รูปรอยแห่งนาม รวมไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ซึ่งเป็นญาณที่ไม่อยู่ในลำดับ เมื่อนั้น ความรู้ตัว ก็จะออกหน้า หรือแสดงตัวออกมาเอง

 

ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องเป็นไปอย่างฉับพลันหรือชนิดอึดใจเดียว ต้องให้สิ่งที่เป็นแล้ว มีแล้ว ได้โอกาสแสดงตัวออกมา ในการปฏิบัติจึงไม่มีการกระทำอันใดอื่นทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพิธีรีตอง การท่องบ่นมนต์ ภาวนาถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์หรือแม้แต่การกำหนดลมหายใจเข้าออกควบคุมลม(ซึ่งถือว่าเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น) ฯลฯ นอกจากการ “ไม่ขึ้นกับความคิด ไม่เข้าไปในความคิด และไม่มุ่งขจัดความคิด” และทันทีที่มีสภาวะแห่งความรู้สึกตัวเช่นนั้น ถือว่าเป็นทุกอย่างในทางปฏิบัติ

 

กล่าวคือ เป็นศีล-สมาธิ-ปัญญา อยู่เบ็ดเสร็จ และการทั้งนี้ก็คือการปล่อยให้สภาพที่เป็นแล้ว มีแล้ว ได้ทำงานตามธรรมชาติของมันเอง ไม่มีทั้งการกำหนด ไม่หวังผล ไม่มีการกระทำใด ๆ  คงปล่อยให้สภาพ เป็นเองอย่างไร ให้เป็นไปอย่างนั้น เพียงแต่ประคองไม่ให้เผลอเข้าไปในความคิดเท่านั้นเป็นพอ การทั้งนี้ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยความรู้สึกตัวตามธรรมดาและการปล่อยให้ความจริงตามสภาวะวิสัยการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และการรู้ได้ได้ทำหน้าที่เผยตัวมันเองออกมา

 

จึงไม่มีทั้งการหลับตาทำความสงบขึ้น เพื่อกลบหรือหลบหลีก ไม่มีทั้งการสร้างกำลังใจ  ไม่มีทั้งการรักษาศีลตามข้อบัญญัติ ซึ่งถือว่าเป็นการหน่วงติดอยู่กับสมมติ ไม่มีการเจริญปัญญาหรือพิจารณาอารมณ์ในแง่ไตรลักษณ์ ซึ่งถือเป็นเพียงการให้กำลังแก่อวิชชายิ่งขึ้น ไม่มีการจดบันทึกไม่ว่าเป็นบันทึกในคลองความจำหรือในสมุด ไม่มีแม้การหาเหตุผลตามแนวปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการหรือตรรกะ ไม่มีการกำหนดให้รู้ให้เห็นเป็นอะไรอื่น ไม่มีการสร้างสภาวะใด ๆ ขึ้น

 

มีอยู่แต่การรู้แล้วทิ้งเลย ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่ปรากฏแก่จิต แม้ปิติ สุข เอกัคตา ก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา สุขก็ไม่เอา แต่ก็ใช่ว่าจะไปสร้างสรรค์ภาวะอันอื่นขึ้นในรูปของความคิดใหม่ ๆ แปลก ๆ  เพื่อเกาะยึด ดังนี้เอง คำชี้แนะของท่านจึงอาศัยเพียงกลวิธีกับความเข้าใจ อันเดียวนี้เท่านั้น ไม่มีการสนับสนุนให้เป็นนักคิด นักธุดงค์ นักตำรา นักภาษาศาสตร์ ที่เพียรหาถ้อยคำแปลก ๆ มาเสนอ กลวิธีนี้ไม่ใช่เพื่อการบรรลุถึงสิ่งใด ๆ  เป็นเพียงการเร้าให้เกิดการปฏิวัติความรู้สึกตัว หรือเป็นเพียงความรู้สึกตัวล้วน ๆ เท่านั้น และให้สิ่งที่ซ่อนอยู่ทั้งหมด ได้แสดงตัวมันเองออกมา จึงมีการเริ่มต้นจากความรู้สึกธรรมดาเฉย ๆ ไปสู่ความลึกซึ้งเมื่อมันแสดงตัวออกหมด ความรู้สึกอันเดียวกันนั้นจะเป็นทั้งธรรมดาเพราะมีอยู่แล้วไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ จะเป็นทั้งความมหัศจรรย์เพราะแสดงออกได้ไม่รู้สิ้น

 

กลวิธีจำเพาะ และ ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง

 

[ ถอดความจาก Against The Stream Of Thought: The Teaching of Luangpor Teean -- by Anchalee Thaiyanond ในส่วนที่เกี่ยวกับ กลวิธีจำเพาะ และ ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง]

 

 

ในการปฏิบัติ เราต้องมี ทั้ง กลวิธีจำเพาะ และ ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง

 

กลวิธี :

 

กลวิธี คือ การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะคลึงนิ้วมือเดินมา-เดินไป. กลวิธีนี้ทำให้ร่างกายเราไม่อยู่นิ่งเราจะสามารถทำความรู้สึกตัวได้อย่างต่อเนื่องและชัดเจนเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว. ความเข้าใจ :

 

ก) เราควรเข้าใจว่า ความรู้สึกตัว คือ รู้สึก หรือ รู้ เฉย ๆ , ไม่มีอะไรมากกว่านั้นไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากนั้น. (เราไม่ต้องทำความรู้สึกตัวว่า เรากำลังเดินกำลังหายใจเข้ากำลังหายใจออก: อย่างนั้นผิด. แค่รู้สึกเฉย ๆ : แค่นั้นพอไม่ต้องมีอะไรอีก.) ให้เราทำความรู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจ. เมื่อความคิดขึ้นมารู้เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก

 

ข) เราควรเข้าใจว่า ไม่ว่าการเคลื่อนไหวใด ๆ เกิดขึ้น: แค่ รู้สึก หรือ รู้ เฉย ๆ  แล้วก็ปล่อยไป. ไม่ต้องรู้ว่ามันเป็น ความโลภ หรือ ความโกรธ: มันไม่จำเป็น. เราแค่รู้สึก แล้วก็ปล่อยไป. ตัวอย่างเช่น เมื่อมีลมพัดมาเราแค่รู้สึกไม่ต้องรู้ชื่อของมันแม้แต่รู้ว่ามันเป็นลมก็ยังมากเกินไป. เราแค่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (เมื่อไม่มีลม) แค่นั้นพอ. เราไม่ต้องตั้งชื่อให้มันไม่งั้นเราจะเกิดความสับสนขึ้นได้

 

ในการทำความรู้สึกตัวจากการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเราไม่ควรตั้งใจกับความรู้สึกมากนักทำสบาย ๆ , อย่าจริงจังจนเกินไป. จากที่กล่าวมา ทั้งกลวิธีจำเพาะและความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น. เพราะ ถ้าเรารู้แต่กลวิธีแต่ไม่เข้าใจในการปฏิบัติก็จะไม่เกิดผล. และ ถ้าเราเข้าใจในการปฏิบัติดีมากแต่ไม่มีกลวิธีก็จะไม่เกิดผลเช่นกัน. ดังนั้นในการปฏิบัติเราต้องมีทั้งกลวิธีจำเพาะและความเข้าใจในการปฏิบัติที่ดี

 

สรุป:

 

๑. เราต้องทำมัน (ทำความรู้สึกตัว) ด้วยตัวเอง จนกระทั่งเรา รู้มันเห็นมันเข้าใจมันและเผยมันออก ภายในกาย-จิตของเรา.

๒. ต้องมีทั้งกลวิธีจำเพาะและความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง

๓. อย่าอยู่นิ่งเราควรเคลื่อนไหวตลอดเวลา

๔. ปฏิบัติให้มาก ๆ ด้วยกลวิธีดังกล่าว โดยปราศจาก การบังคับ หรือ การคาดหวัง ใด ๆ  ทั้งสิ้น. ผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นเอง.

 

ความคิดเป็นพาหะ

 

...ที่จริงความคิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้ายเลวทรามอะไร แต่ความคิดเป็นพาหะนำความโกรธ ความโลภ และความหลงมา ถ้าสามารถรู้ตัวได้ แล้วใช้ความคิดได้อย่างอิสระ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็แยกทางไป ก็ดับไปตามกาลเวลาอันสมควร เพราะโดยพื้นใจของเรานั้นไม่มีอยู่แล้ว สิ่งแปดเปื้อนมลทินเหล่านั้นไม่มีอยู่จริงแท้และถาวร มันมีต่อเมื่อเราเผลอ พอเผลอก็คิดโลภ คิดโกรธขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้ตัว ไม่มีความคิดโลภ คิดโกรธ คิดแล้วไม่รู้ตัว (หลง)  เราก็มีปกติดี

 

แท้จริงจิตใจเป็นสิ่งบริสุทธิ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว คนทุกชาติทุกภาษามีจิตใจเหมือนกัน แต่พอความคิดก็เกิดต่างกัน พอความโลภ ความโกรธ ข้อจำกัดเกิดขึ้น ยึดมั่นในชาติพันธุ์ของตัว ในผิวพรรณ วรรณะ ในเพศ ในวัยของตัวเอง ดังนั้นถ้าเราทันท่วงทีขณะที่ความคิดเกิด ปัญหาที่แก้ยากที่สุด จุดที่สะสางยุ่งยากที่สุด ทั้งปัญหาส่วนปัจเจกและสังคมโลกก็จะถูกแก้ไข...

 

ทวนกระแสไปสู่ก่อนหน้าคิด 

 

...การที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อให้สิ้นสุดทุกข์นั้นต้องทวนกระแสอารมณ์ไปสู่ก่อนหน้าที่อารมณ์จะเกิด อารมณ์ในที่นี้คือความคิด ถ้าเราตั้งคำถามเดี๋ยวนี้ว่า ก่อนหน้าคิดคืออะไร ก็ยังตกอยู่ภายใต้รูปของความคิดเหมือนเดิม ดังนั้นการทวนกระแสไปสู่ต้นน้ำจริง ๆ  ต้นกำเนิดจริง ๆ  ที่ที่ความคิดออกมา เราถึงต้องทำภาวนากิจเพื่อเร้าความรู้สึกตัวให้สูง เพื่อความแก่กล้าของอินทรีย์ทั้งห้า (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)  เพื่อจะทวนเข้าไปสู่ก่อนหน้าความคิดเกิด

 

คำว่าทวนกระแสนั้นไม่ได้มุ่งไปไหน นอกจากการเข้าถึงที่สุดในตัวเอง ไม่ใช่ต้านกระแส เราต้องแยกแยะว่าการต้านกระแสนั้นเป็นเรื่องโง่งม เช่นไปหยุดความคิดนั้นมันต้านความคิดไป ธรรมดาว่าเรือต้องแล่นขึ้นเหนือผิวน้ำ แต่อาศัยกระแสน้ำนั่นเองทวนไป แต่ถ้าเรือจมนั้นไปไม่ได้ มันมุดลงใต้น้ำแล้ว ดังนั้นในภาคปฏิบัติมุ่งรู้ตัว เมื่อคิดต้องรู้...

 

รู้แต่ไม่รู้อะไรเลย

 

การเจริญสตินั้น แม้เราจะเดินจงกรม แต่ไม่ควรเอาจิตไปปักไว้ที่ฝ่าเท้า หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ผมแนะนำให้เอาการเคลื่อนไหว อาการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่แข้ง ไม่ใช่ขา แต่การเคลื่อนไหวของแข้งและขา แยกให้ออก มือกับการเคลื่อนไหวแห่งมือ การเคลื่อนไหวแห่งมือนี้ อย่าไปใส่ใจที่มือ แต่ให้ใส่ใจที่การเคลื่อนไหว ...

 

กายเคลื่อนไหว ใจรู้ คือเรียกว่ารู้ตัวก็ได้ ส่วนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นฐาน เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ติดคิด แต่ไม่เหลือวิสัย บางคนบอกว่าไม่สามารถจับอารมณ์ได้ เพราะเมื่อจิตไปดูสัมปชัญญะ ไปดูการเคลื่อนไหว มันจับไม่อยู่ มันหลวม ๆ  ก็ถูกต้องแล้ว เพราะว่าเราเคยชินกับการจ้องจับอะไรที่ชัด ๆ  ถ้าให้เรากำหนดจิตที่หนึ่งที่ใดเราทำได้ง่าย แต่พอเราพรากจากฐานอันนั้นมาสู่การเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นธรรมดาที่มันจะไม่ชัด แต่ในความไม่ชัดนั้นเองมันจะสลายการรวมศูนย์ กลายเป็นการรู้ตัวทั่วพร้อมกว้าง ๆ 

 

เพราะว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นกึ่งรูปกึ่งนาม ก่อนหน้านี้เราชินกับการกำหนดรูป จะให้นั่งดู เพ่งดู สิ่งใด เราก็ดูได้ เกิดภาวะดวลกันระหว่างผู้ดูและสิ่งที่ถูกดู นี่คือโลกของจิตสำนึกธรรมดา ซึ่งขึ้นกับวัตถุ ขึ้นกับวัตถุเป็นที่ตั้ง ให้เราดูผู้หญิง เราก็ดูได้ง่าย เราก็เห็นได้ชัด ดูผู้ชาย ดูวัว ดูควาย ดูต้นไม้ เราเห็นได้ชัด แต่หันมาดูความคิดใด ๆ นี่มันไม่ได้แล้ว

 

เพราะฉะนั้นเป็นธรรมดา ถ้ามาดูการเคลื่อนไหว ดูยาก ดูไม่ชัด แต่ในความไม่ชัดนั่นแหละคือความชัด ถ้าไปชัดเป็นรูปธรรมขึ้นมาเป็นความยึดติด ดังนั้นเองให้เคลื่อนไหวไว้ให้ต่อเนื่องด้วยสัมปชัญญะ ไม่ใช่ดูด้วยตาเนื้อ ตาเนื้อก็เบิกไว้ ลืมตาเข้าไว้ แต่ไม่ดูอะไรโดยจำเพาะ เห็นทุกอย่าง แต่ไม่เห็นอะไรเลย รู้ตัวโดยไม่รู้อะไร ถ้าเข้าใจศิลปะแห่งการเห็นเช่นนี้ก็จะรื่นรมณ์ มีสุนทรียภาพอยู่ในการเห็น

 

ปฏิบัติจริง แต่ปฏิบัติเล่น ๆ

 

เวลาปฏิบัติเจริญสตินั้น ให้ปฏิบัติจริง ๆ  อย่าไม่ปฏิบัติ ให้ปฏิบัติจริง ๆ  แต่ให้ปฏิบัติเล่น ๆ  เรื่อย ๆ  ผมใช้คำพูดที่ยุ่งขึ้นทุกทีแล้ว แต่ถ้าคนปฏิบัติ จะเข้าใจทันทีว่าหมายถึงอย่างไร การไม่ปฏิบัติก็คือการนั่งคิดอะไรเรื่อยเฉื่อยแฉะ ให้มีการปฏิบัติการยกมือ แล้วรู้ขณะที่ยก แต่ให้ปฏิบัติเบา ๆ  ปฏิบัติเล่น ๆ  ปฏิบัติจริง แต่ปฏิบัติเล่น ๆ  มันจะเป็นเร็ว มันจะค่อย ๆ เบาขึ้น สบายขึ้น รู้ตัวดีขึ้น และเป็นไปได้ที่จะเห็นความคิด ...

 

สติละกิเลสไม่ได้

 

มีคำพูดผิด ๆ  ซึ่งเราได้ยินบ่อย สติจะถูกเน้นมากเกินไป เช่น บอกว่าสติเท่านั้นทำให้หลุดพ้น ที่จริง สติละกิเลสไม่ได้ มันเป็นเพียงทำหน้าที่รู้จักเท่านั้นเอง สติมโต สุโว เสยโย น เวรํ ปริมุจฺจติ นี่พระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสเองว่า สตินั้นดี แต่สติละเวรหาได้ไม่ อะไรคือเวร สมมุติว่านักศึกษา จัดเวรกันกวาดลานวัด ถึงเวลาก็ต้องทำ ถึงเวลาก็ต้องทำ เขาเรียกว่าทำเวร ใช่หรือเปล่า ในทางพระนั้นถือว่า เวรก็คือกามคุณห้า เพราะถึงเวลาต้องเฝ้าเวรอีกแล้ว ถึงเวลาต้องเสพ

 

ดังนั้นสติรู้ได้ แต่ละมันไม่ได้ เหมือนเราโกรธใครสักคนหนึ่ง เรารู้ตัวเราโกรธ แต่จริง ๆ มันหยุดไม่ได้ ยังโกรธอยู่นั่นแหละ ตัวละไม่ใช่สติ ดังนั้นเราต้องพัฒนาสติขึ้น เพื่อให้ถึงระดับที่มีความเข้มข้น มีพลัง จนกระทั่งเห็นการกระทบสัมผัส ด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่คำเล่าลือ ไม่ใช่พระคัมภีร์บอก ไม่ใช่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง

 

สติ สมาธิ ปัญญา เป็นกระแสเดียวกัน

 

ที่จริงสติ สมาธิ และปัญญานั้นเป็นอันเดียวกัน คือเมื่อสติต่อเนื่องกันเข้ามันจะแปรกิจไปทำหน้าที่ของสมาธิ ตอนที่มันแปรเป็นสตินั้นคือมันทำลายความไม่รู้สึกตัว พอรู้ตัวนี่ความไม่รู้สึกตัวก็หายไป นั่นคือกิจของสติ ทีนี้เมื่อความรู้สึกตัวสด ๆ นี่ต่อเนื่องกันเข้า เหมือนสายน้ำสะสมน้ำเข้ามันก็เกิดเป็นวังน้ำมีกำลัง เมื่อสติต่อเนื่องเข้ามันจะแปรสภาพเป็นสมาธิ เมื่อมันได้ชื่อว่าเป็นสมาธินั้นมันทำหน้าที่ตัดความฟุ้งซ่านทางจิต กระแสไหลในจิตนี่จะถูกตัดออก จิตเริ่มเป็นหนึ่งแน่วในตัวมันเอง ที่จริงสืบเนื่องจากสตินั่นเอง

 

เหมือนเม็ดทรายเม็ดหนึ่งรวมเข้ามันกลายเป็นผืนแผ่นดินขึ้นมา เมื่อสติต่อกันเข้ามันก็เกิดเป็นสมาธิขึ้นและมันจะทำกิจของสมาธิ สมาธิที่เกิดโดยไม่มีสตินั้นอันตราย คนที่เป็นบ้าไปหรือวิปลาสไปเพราะไปทำสมาธิก่อนสติ เหมือนเด็กคลอดก่อนกำหนดออกมาตายหรือเลี้ยงไม่โต ไปนั่งเห็นสีเห็นแสงอะไรขึ้นมาก็บ้าไปเลย แต่ถ้าคนมีสติจะไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อสติต่อเนื่องกันขึ้นเมื่อสมาธิเกิดมันจะรู้ตัวชัดเจน เพราะฉะนั้นมีอารมณ์เข้ามากระทบมันจะแปรไปสู่ปัญญาเลย คือมันเข้าใจขบวนการของชีวิต ขบวนการกระทบ ขบวนการสืบต่อ ผลของการกระทบ เช่นเมื่อมีการกระทบจะส่งผลเป็นกิเลสอย่างไร รู้เห็นเข้าใจ ...

 

เจริญสติให้ต่อเนื่อง หมายความว่า ทั้งตอนปฏิบัติภายใต้รูปแบบและตอนเลิกปฏิบัติ ก็ยังปฏิบัติอยู่ จนกระทั่งการปฏิบัตินั้นได้กลายเป็นสิ่งเดียวกับวิถีแห่งการดำรงอยู่ กินข้าว อาบน้ำ ทำครัว 

 

ลืมตัวแบบรู้ตัว รู้ตัวแบบลืมตัว

 

ชีวิตนั้นมีศูนย์กลางตรงรู้สึกตัวได้ ในความรู้สึกตัวได้ ถ้ามันถูกเคี่ยวกรำเข้า มันก็กลายเป็นความรู้ตัว จากความรู้ตัว มันเป็นรู้ล้วน ๆ  รู้ล้วน ๆ นั้นคือพุทธะ อุปมาเหมือนน้ำแข็งก้อนหนึ่ง เย็นแข็งทื่อ แต่เมื่อเรามาต้มอังไฟเข้า ก็ค่อย ๆ ละลายไปกลายเป็นน้ำ พอน้ำเดือดกลายเป็นไอ พอกลายเป็นไอ เรามองไม่เห็นแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น ความรู้สึกตัวทึบ ๆ หนัก ๆ  รู้สึกตัวได้ดีแล้วแต่มันยังหนักอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติต่อไป มันค่อย ๆ กลายเป็นรู้ตัวล้วน ๆ  รู้ล้วน ๆ ไปทีน้อย ๆ  เบากายเบาใจไปเรื่อย

 

ที่เราจับการเคลื่อนไหวนั้นเพื่อจะรู้สึกตัว หรือเรารู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการอันเดียวกัน เสริมกัน แต่ถ้ารู้ตัวมากเกินก็กลายเป็นจ้องตัวเอง แล้วมันจะเครียดขึ้น ดังนั้นภาวะที่เราปรารถนาจริง ๆ  คือสมดุลระหว่างรู้ตัวและลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว รู้ตัวแบบลืมตัวนี่สำคัญ ถ้าเรารู้ตัวตลอด ยึดติดกับปัจจุบันขณะจะอึดอัด ชาวพุทธมักเข้าใจว่า นิพพานเป็นปัจจุบัน แล้วพยายามปฏิบัติเพื่ออยู่ในปัจจุบันขณะ นั่นเป็นความยึดติด พระพุทธเจ้าปฏิเสธว่านิพพานไม่ได้เป็นปัจจุบัน นิพพานไม่เป็นอดีต ไม่เป็นอนาคต ไม่เป็นแม้แต่ปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเป็นฐานของการภาวนา

 

เราต้องตั้งฐานที่ปัจจุบันขณะก่อน ต้องละแม้แต่ปัจจุบัน เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวของเราต้องเป็นความรู้สึกเบา ๆ  ท่านคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันที่เราสบายที่สุด คือเราเดินแล้วลืมตัว แต่เราไม่ได้บ้า ไม่ได้เสียจริต ไม่ได้ตกท่อตกคูที่ไหน ไม่ได้ไปฆ่าใครที่ไหน รู้ตัวแบบลืมตัว ลืม ๆ เรื่องราวส่วนตัวไป ภาวะเช่นนั้นเป็นเป้าประสงค์หลักของเรา เพราะที่ตรงนี้ กฎธรรมชาติจะทำกิจของการปลดปล่อยเป็นเอง สัญชาตญาณไม่ประสงค์ทุกข์จะทำงาน

 



ผู้ตั้งกระทู้ วิศาล :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-09 17:48:13


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.