ReadyPlanet.com


รูปลักษณะสภาวะทั้งหลายทั้งปวง


 รูปลักษณะสภาวะทั้งหลายทั้งปวง

เป็นเพียงพฤติภาพแห่งดวงจิตของบุคคล​
 
ข้อความทำนองนี้จะปรากฏมากมาย ในพระธรรมเทศนาของท่านมิลาเรปะ เป็นข้อเท็จจริงในธรรมชาติที่พิสูจน์ได้โดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่การใช้วิธีตั้งข้อสังเกตง่าย ๆ ของผู้ไม่รู้หนังสือ ก็ยังอาจสามารถพิสูจน์สัจจธรรมข้อนี้ได้ ผลลัพธ์ก็คือทำให้รู้เท่าทัน รูปลักษณะสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ว่าล้วนไม่ได้มีตัวตนของมันเองดำรงอยู่จริง
 
ในมุมมองของอนิจจัง เมื่อเรากระทบสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างใดอย่างหนึ่ง รูปลักษณะสภาวะในภายนอกซึ่งล้วนปราศจากตัวตนของมันเองได้ผันแปรไปแล้ว ดังนั้นการที่เรายังกำหนดความหมายหรือคุณค่าใด ๆ ของรูปลักษณะสภาวะนั้นอยู่ต่อไป ก็นับว่าเป็นเรื่องของพฤติภาพภายในจิตใจซึ่งมีรูปแบบของการสั่งสมอวิชชาไว้หลากหลายนัยยะของแต่ละปัจเจกบุคคลเองล้วน ๆ ที่เนื่องอยู่กับการกระทบสัมผัสนั้น ๆ
 
ในมุมมองของอนัตตา หรือความไม่มีตัวตนของมันเอง เช่นการที่เราเห็นก้อนเมฆเป็นสิ่งที่หมายถึงได้ แต่ถ้าเข้าไปพิจารณาองค์ประกอบของก้อนเมฆอย่างใกล้ชิด จะเห็นกลุ่มละอองน้ำ และเงาที่เกิดจากละอองเหล่านั้นบดบังแสงอาทิตย์ เราย่อมไม่เห็นก้อนเมฆแต่อย่างใด ภาพรวมออกมาเป็นก้อนเมฆปรากฏให้เห็นได้ในระยะไกลเท่านั้น แน่นอนที่สุดว่าเราไม่อาจพูดได้ว่าสิ่งที่หมายถึงภายในจิตใจ อันคือก้อนเมฆนั้น ว่ามีตัวตนของมันเองอยู่จริง ดังนั้นเราสามารถพูดได้ว่าเป็นเพียงพฤติภาพในดวงจิตของบุคคล
 
หรือการที่เราเห็นดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในฟากฟ้า และเป็นสิ่งที่หมายถึงได้ แต่เราสามารถจินตนาการได้ว่า สิ่งที่เราหมายถึงได้ภายในจิตใจนี้ มิได้มีอยู่จริงตามที่เห็น เพราะเพียงแต่เราเริ่มออกเดินทางค้นหาดวงจันทร์หรือสิ่งที่เราเห็นนี้ เราย่อมพบได้ว่าการเห็น หรือสิ่งที่หมายถึงของเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หรือพูดได้ว่าเราไม่สามารถหาพบสิ่งที่หมายถึงได้นั่นเอง เพราะโดยที่แท้แล้ว เป็นเพียงพฤติภาพในดวงจิตของบุคคล
 
ตัวอย่างของใกล้ตัว เช่นผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่หมายถึงได้ เมื่อพิจารณาดูถึงองค์ประกอบย่อย เราเห็นแต่เส้นด้ายเรียงตัวเบียดชิดกันสนิท ไม่เห็นมีแม้แต่อะตอมเดียวของผ้า ถ้าเราพิจารณาองค์ประกอบย่อยของเส้นด้ายลึกลงไป เราย่อมพบความว่างเปล่าของด้าย ในทำนองเดียวกับที่เราพบความว่างเปล่าของผ้ามาแล้ว เพราะโดยที่แท้แล้ว เป็นเพียงพฤติภาพในดวงจิตของบุคคล
 
สรรพสิ่งเป็นเพียงพฤติภาพในดวงจิตของบุคคล ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเข้าไปหลงปรุงแต่งกำหนดหมายคุณค่าใด ๆ (อวิชชาความไม่รู้ที่ทำให้เกิดการสังขารปรุงแต่ง) จนเกิดความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ผู้ที่รู้แจ้งตระหนักชัดในสัจจธรรมข้อนี้ได้โดยไม่ต้องนึกคิดตรึกตรองด้วยเหตุผล (อบรมโพธิปักขิยธรรมจนเกิดสัมมาญาณทัศนะ) ย่อมไม่ปล่อยให้พฤติภาพของดวงจิตหลงกำหนดหมายปรุงแต่งในจิตใจหลังการกระทบสัมผัสแม้เพียงชั่วขณะเดียว ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ผู้นั้นสามารถระงับอวิชชาที่ทำให้เกิดสังขาร จนทำให้ รู้ หรือวิญญาณดับ อันทำให้ รู้ กับ สิ่งที่รู้ หรือนามรูป หยั่งลงไม่ได้
 
เมื่อนามรูปดับ อายตนะหรือทวารรับรู้ก็ไม่ทำงานในวิถีที่เป็นเครื่องมือของอวิชชาอีกต่อไป อวิชชาสัมผัสจึงดับ เมื่อผัสสะด้วยโมหะดับ ความรักหรือชังย่อมดับลงได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือเวทนาดับ ด้วยความรักความชังไม่มีเป้าหมายที่จะหยั่งลงไปได้ในสิ่งที่รู้ใดๆ เพราะนามรูปหยั่งลงไม่ได้ด้วยวิปัสสนาญาณรู้แจ้งตระหนักชัดว่ารูปลักษณะสภาวะทั้งปวงล้วนปราศจากตัวตนของมันเองเป็นอนัตตา
 
และไม่ได้ดำรงอยู่แม้ขณะเดียวเพราะมีธรรมชาติที่ผันแปรเป็นอนิจจังอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นหรือโลภะมูลจิต ซึ่งเกิดจากความรักความพอใจหรือความอยากให้พ้น ๆไปหรือโทสะมูลจิตซึ่งเกิดจากความชัง ย่อมไม่สามารถเกิดได้ นั่นคือตัณหาหรือเหตุแห่งทุกข์ไม่เกิด ความทนได้ยากย่อมไม่เกิด นั่นหมายความว่าทุกข์ดับ สำเร็จประโยชน์แห่งการลุถึงความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งสี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค...
 
คณิต สายลิ่ม


ผู้ตั้งกระทู้ Wisarn :: วันที่ลงประกาศ 2023-06-21 10:13:04


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.