ReadyPlanet.com


การเห็นสักแต่เห็น


 

จากหนังสือ ดวงตาแห่งชีวิต

โดย เขมานันทะ

 

...เมื่อเห็นสักแต่เห็น รู้สักแต่รู้ จินตนาการเกี่ยวกับตัวเองไม่ปรากฏ คำอธิบายว่า เมื่อนั้นเธอ ตัวเธอจะไม่ปรากฏ ดังนั้นแสดงว่า ตัวตนของพาหิยะ หรือของเราทุกคนเป็นเพียงภาพสะท้อนมายาเท่านั้น เพราะการเห็นไม่สมบูรณ์ เมื่อเห็นไม่สมบูรณ์ ภาพของผู้เห็นก็ปรากฏขึ้นแทรกแซง และผู้เห็น ก็เสพอารมณ์ต่าง ๆ ผู้เห็นก็หนักหนาขึ้นในทางยึดมั่นสำคัญผิด ดังนั้น ในทางกลับกัน เมื่อเห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน รู้อารมณ์ใดก็สักแต่อารมณ์นั้น ความสำคัญผิดก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าตัวเอง หรือตัวตน ตัวข้าพเจ้า ตัวหนู ตัวกระผม นั้น เป็นภาพสะท้อนเนื่องจากการเห็นที่ไม่สมบูรณ์.

 

...การเห็นสักแต่เห็นนั้น คล้าย ๆ เป็นความโง่งม โดยไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แท้จริง ด้วยการเห็นเช่นนี้ ภาพสะท้อนของตัวผู้เห็นจะไม่ปรากฏ เมื่อตัวผู้เห็นไม่ปรากฏ สังสารจักรก็หักแหลกลงแล้ว ดังนั้น จิต ก็กลายเป็นสาธารณะ จิตเป็นจิตที่แผ่กว้าง และเป็นสากลยิ่ง ไม่ใช่จิตของฉัน ไม่ใช่จิตของคุณ ไม่ใช่จิต ก. จิต ข. จิต ง. แต่เป็นจิตโดยสาธารณะ.

 

...เป็นธรรมดาเมื่อเราดูความคิดนี้ เราจะไม่เห็นอะไร เพียงคลับคล้ายคลับคลา เพราะความคิด ดับไปทันทีที่เห็นนั่นเอง ทำให้ผู้ดูค่อย ๆ เจือจางไปทีละน้อย ๆ จนกระทั้งบางครั้ง บางขณะ บางช่วง มีการเห็นโดยลืมตัวตนผู้เห็นไป เห็นเฉย ๆ ในที่สุดก็เห็นเฉย ๆ ต่อสรรพสิ่ง.

 

การที่เราไม่เฉยนั้น เราอยากได้สิ่งที่เราเห็น โดยทั่วไป การเห็นของเราเป็นการล่า เป็นการมองหาบางสิ่ง แต่เห็นเฉย ๆ นั้น ไม่ได้หา ไม่ได้ล่า เป็นความบริสุทธิ์ของการสังเกต ซึ่งเป็นรากฐานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากของการศึกษา.

 

...การที่เราถอนตนมาดูข้างนอก ดูเฉย ๆ การไปดูเฉย ๆ นี่ เป็นศิลปะอันสูงส่ง คือ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ดู แต่ไม่มีถอยคำสักคำที่วิพากษ์วิจารณ์ 

 

...โดยทั่วไป เราอยู่ในความคิด ดังนั้น เวลาเราเห็นอะไร เราคิดซ้อน เราพูด เราอธิบายเบ็ดเสร็จ การเห็นของเราจึงไม่สมบูรณ์... การเห็นตัวเองได้อย่างสมบูรณ์นั้น คือการอยู่เหนือความคิด.

 

ในการภาวนานั้น เราไม่เอาทั้งคิดดี และคิดไม่ดี เราปัดทิ้งหมด เราปัดมันออก เพื่อจะเข้าไปสู่ต้นตอ ก่อนหน้าความคิดเกิด สถานะก่อนหน้าความคิดเกิดนี่แหละ เรียกว่า จิตไร้นิมิต จิตไร้นิมิตนั้น จิต ไม่อาจทรงความเป็นจิตไว้ได้ แล้วไม่อาจร้องเรียกฐานะนั้นว่าเป็นสถานะอะไร เพราะว่า ไม่มีภาษาที่จะร้องเรียก ภาษามันดับก่อนที่จะเข้าถึง ภาษาก็คือความคิดนั้นเอง เราคิดอยู่ในใจด้วยภาษา ดังนั้น เมื่อออกนอกความคิด ก็คือ ออกนอกภาษา ไม่มีภาษา ไม่ว่าภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศษ ไม่มีอยู่ในนั้น ท่านจึงยักเยื้องไปเรียกสภาพนั้นว่า อัพยกฤต,อวยากตธรรม ธรรมซึ่งไม่อาจเกี่ยวข้องกับไวยากรณ์ หรือคำพยากรณ์ ว่าดี ว่าชั่ว ว่าถูก ว่าผิด ว่าบุญ ว่าบาป.

 

ก่อนหน้านี้เราชินกับการกำหนดรูป จะให้นั่งดู เพ่งดูสิ่งใด เราก็ดูได้ เกิดภาวะดวลกัน ระหว่างผู้ดู และสิ่งที่ถูกดู นี่คือโลกของจิตสำนึกธรรมดา ซึ่งขึ้นกับวัตถุ ขึ้นกับวัตถุเป็นที่ตั้ง.

 

ภาวะที่เราปรารถนาจริง ๆ คือ สมดุลระหว่างรู้ตัว และลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว รู้ตัวแบบลืมตัวนี่สำคัญ ถ้าเรารู้ตัวตลอด ยึดติดกับปัจจุบันขณะ จะอึดอัด

 

รู้ตัวแบบลืมตัว ลืม ๆ เรื่องราวส่วนตัวไป ภาวะเช่นนั้นเป็นเป้าประสงค์หลักของเรา เพราะที่ตรงนี้ กฏธรรมชาติจะทำกิจของการปลดปล่อย เป็นเอง สัญชาตญาณไม่ประสงค์ทุกข์ จะทำงาน.



ผู้ตั้งกระทู้ wisarn :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-29 18:58:10


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.