ReadyPlanet.com


คติธรรม ของ ท่านพุทธทาส หมวดว่าด้วย นิพพาน


 คติธรรม ของ ท่านพุทธทาส 

หมวดว่าด้วย นิพพาน - จุดปลายทางของชีวิต 

1. เรื่องพระนิพพาน เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะพูดให้จบหรือให้เข้าใจกันได้ด้วยคำพูดเพียงสองสามคำ ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาทบทวนไปมา ด้วยการคิดค้นหาความเข้าใจ ตีความ และเทียบเคียง หยั่งให้รู้ถึงความหมายของศัพท์และประโยค ไปโดยลำดับจริง ๆ ไม่ศึกษาอย่างสะเพร่าลวก ๆ หรืออ่านข้ามไป ทั้งที่ไม่เข้าใจ, จึงจะค่อย ๆ หยั่งเห็นพระนิพพานอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดฉันทะในการที่จะบรรลุถึงได้จริง ๆ ด้วยการปฏิบัติธรรมทางใจฯ 

2. พระนิพพาน ไม่ใช่เป็นจิต, ไม่ใช่เป็นเจตสิก หรือสิ่งที่เกิดกับจิต โดยอาศัยจิตนั้น, ไม่ใช่มีรูปร่างเป็นก้อนเป็นตัว อันเป็นประเภทรูปธรรม, ไม่ใช่บ้านเมือง, ไม่ใช่ดวงดาวหรือดาวโลกโลกใดโลกหนึ่ง; และยิ่งกว่านั้น พระนิพพานไม่ใช่สิ่งที่มีความเกิดขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่มีความดับลงไป หรือทั้งเกิดและดับ สลับกันไปในตัวฯ 

3. พระนิพพาน เป็นสภาวะธรรมชาติชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่ต้องตั้งต้น “การมี” ของตนขึ้น เหมือนสิ่งอื่น แต่ก็มีอยู่ได้ตลอดไป และไม่รู้จักดับสูญ เพราะไม่มีเวลาดับ หรือแม้แต่แปรปรวนฯ 

4. สิ่งทั้งหลายอื่น ซึ่งมี ๆ กันอยู่ นอกจากพระนิพพานแล้ว, แรกที่สุด มันจักต้องมี “การเกิดขึ้น” มันจึงจะ “มีอยู่” ได้ ขณะมีอยู่นั้น มันต้องแปรไป ในท่ามกลาง และต้องดับไปในที่สุด แม้ระยะเวลาแต่เกิดถึงดับ จะช้านานสักเพียงไรก็ตามฯ 

5. ดวงอาทิตย์ที่เชื่อกันว่าได้เกิดมีขึ้นมานานและเกิดก่อนสิ่งใดในสากลจักรวาล ทั้งยังจะมียืนยาวกระทั่งโลกทั้งหลายกลายเป็นอื่นไปแล้วก็ตาม, มันก็ต้องกลายเป็นไม่มีไปสักวันหนึ่ง, แม้ดิน น้ำ ไฟหรือความร้อน ลมหรืออากาศ ก็เช่นกัน: จักต้องถึงสมัยหนึ่งที่มันจะไม่มีอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้มี “การเกิดขึ้น” และเกิดขึ้นมา – เป็นขึ้นมาได้ โดยต้องอาศัยสิ่งอื่น มีสิ่งอื่นประกอบขึ้นปรุงขึ้นฯ 

6. สิ่งที่เรียกว่า “พระนิพพาน” นั้น ไม่มี “การเกิดขึ้น” ดังนั้นจึงไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นช่วยให้เกิดขึ้น, เมื่อตัวเองมีของตัวเองได้ มันจึงไม่รู้จักดับ, และจักมีอยู่ตลอดไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย, ไม่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน, ทั้งนี้ก็เพราะ “ความมีอยู่” แห่งพระนิพพานนั้น แปลจาก ความมีอยู่ของสิ่งอื่น อย่างสุดที่กำหนดมากล่าวได้ฯ 

7. พระนิพพาน มีอยู่ตลอดกาลอันไม่มีสิ้นสุด และมีอยู่ เป็นของคู่เคียงกับกาลเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด หากว่ากาล หรือเวลาจะเป็นสิ่งที่สิ้นสุดลงในวันหนึ่งได้ พระนิพพานก็ยังหาสิ้นสุดไปกับตัวเวลานั้นไม่ฯ 

8. พระนิพพาน เป็นสิ่งที่เปิดโอกาสเตรียมพร้อมอยู่เสมอ สำหรับที่เราพบกันเข้ากับดวงจิตของเราทุก ๆ คน หากแต่ว่าดวงจิตของเราตามธรรมดา มีอะไรบางอย่างเข้าเคลือบหุ้มเสีย ไม่เปิดโอกาสให้พบกันได้กับพระนิพพานเท่านั้น, พระนิพพานจึงไม่ปรากฏแก่เรา ว่ามีอยู่ที่ไหน ทั้ง ๆ ที่พระนิพพานมีในสิ่งทั่วไป ยิ่งเสียกว่าอากาศ ซึ่งกล่าวกันว่ามีทั่วไปเสียอีกฯ 

9. เราไม่อาจกำหนดหรือเคยพบกับพระนิพพาน ก็เลยคิดไปว่าพระนิพพานมิได้มีอยู่ดังที่กล่าว เข้าใจเป็นการกล่าวอย่างเล่นสำนวนสนุก ๆ ไป คนตาบอดมาแต่กำเนิดย่อมไม่รู้เรื่องแสงสว่าง หรือสีขาวแดง ทั้งที่มันมีอยู่ถึงตัว หรืออยู่รอบ ๆ ตัว ผู้บอดด้วยอวิชชา มีอวิชชาห่อหุ้มดวงจิต ก็ไม่รู้เรื่องนิพพาน ทั้งที่มีอยู่รอบตัว ไม่อาจคาดคะเนพระนิพพานได้ จนกว่าเขาจะหาย “บอด” ฉันใดก็ฉันนั้นฯ 

10. คนเรา เกิดโผล่ออกมาจากท้องมารดาสู่โลกนี้ “บอด” มาก่อนเหมือนกันหมดทุกคน จึงไม่อาจรู้เรื่องพระนิพพานได้ ตั้งแต่แรกเกิด เหมือนผู้ที่ตาเนื้อบอดมาแต่กำเนิด ไม่อาจรู้จักแสงหรือสี เช่นเดียวกันฯ 

11. บอดตา ไม่อาจรักษาได้ แต่บอดใจหรือบอดต่อพระนิพพานนั้น อาจรักษาได้ ผู้ที่บอดตา แต่ถ้าเขาหายบอดใจ เขาก็ประเสริฐกว่าผู้ที่แม้ไม่บอดตา แต่บอดใจฯ 

12. แสงแห่งพระนิพพาน ส่องเข้าไปถึงได้กระทั่งในที่ที่แสงสว่างทุกชนิดในโลกส่องเข้าไปไม่ถึง ดวงจิตของคนตาบอด อาจพบกับพระนิพพานได้ ไม่ยากไปกว่าดวงจิตของคนตาดีฯ 

13. คนที่ตาดี ยังเห็นแสงเห็นสีอยู่ ก็ต้องไม่เชื่อหรือสำนึกว่าตาของตนบอด ตาข้างนอกของเขาแย่งเวลาทำงานเสียหมด ตาข้างในจึงไม่มีโอกาสทำงาน, แม้แต่จะรู้สึกว่าตาข้างในของตัวยังบอดอยู่ ก็ทั้งยาก; และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำไป ว่าตนมีตาข้างในอยู่อีกดวงหนึ่ง ซึ่งเป็นดวงสำคัญที่สุดด้วยฯ 

14. แม้คนเราจะแก้ปัญหาชีวิต อันยุ่งเหยิงซึ่งเป็นวิสัย ส่วนของตานอก ได้หมดจดสิ้นเชิงแล้ว แต่เขาก็ยังต้องพบกับความยุ่งยากใจอยู่อีก และเขาไม่ทราบว่า นั่นมันเป็น “วิสัยส่วนของตาใน” ; เมื่อไม่ทราบ ก็แก้ไขปัญหายุ่งยากนั้นไม่ได้ ทำให้ว้าวุ่น โทษนั่นโทษนี่, เดาอย่างนั้นอย่างนี้ไป ไม่อาจพบกับความสุขอันแท้จริงเขาได้เลยฯ 

15. การแก้ไขปัญหายุ่งยากของชีวิตที่เป็นชั้นในอันเป็น “วิสัยส่วนของตาใน” ไม่สำเร็จนั้น ก็เพราะแก้มันไม่ถูก คือไม่ได้ใช้ตาในแก้ ; ไม่สำเร็จนั้น ก็เพราะแก้มันไม่ถูก คือไม่ได้ใช้ตาในแก้; ที่ไม่ใช้ เพราะตาในยังบอด; ที่ยังบอด เพราะตายังไม่ได้รับการรักษา; ที่ยังไม่ได้รักษา ก็เพราะตนยังไม่เคยรู้เลยว่าตาในยังมีอยู่อีกดวงหนึ่ง – เป็นตาสำหรับเห็นพระนิพพาน หรือความสุขอันเยือกเย็นแท้จริงของชีวิตฯ 

16. ใจของเราบอด เพราะอวิชชา คือความโง่หลงยิ่งกว่าโง่หลงของเราเอง นั่นเอง, เปรียบเหมือนเปลือกฟองไข่ที่หุ้มตัวลูกไก่ในไข่ไว้ หรือเหมือนกะลามะพร้าวที่ครอบเอาสัตว์ตัวน้อย ๆ ซึ่งเกิดภายใต้กะลานั้นไว้, แม้แสงสว่างมีอยู่ทั่วไปก็ไม่อาจส่องเข้าไปถึงสิ่งนั้นได้ จิตที่ถูกอวิชชาเป็นฝ้าห่อหุ้ม ก็ไม่อาจสัมผัสกับพระนิพพาน อันมีซ่อนอยู่อย่างละเอียดยิ่งกว่าละเอียดในที่ทั่วไป ตลอดถึงที่ที่แสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง ฉันใดก็ฉันนั้นฯ 

17. เมื่อใดเปลือกฟองไข่ หรือกะลามะพร้าวที่หุ้มครอบอยู่นั้น ได้ถูกเพิกออกหรือทำลายลง, แสงสว่างก็จะสาดส่องถึงสิ่งที่อยู่ข้างในทั้งที่ไม่ต้องมีใครขอร้องอ้อนวอน หรือบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด ฉันใด; ฝ้าของใจ กล่าวคืออวิชชา อุปาทาน ตัณหา อันเป็นฝ้าทั้งหนาและบาง ทั้งชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นในถูกลอกออก ด้วยการปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อนั้น แสงหรือรสแห่งพระนิพพาน ก็เข้าสัมผัสกันกับจิตได้ ฉันนั้นฯ 

18. เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว มีโอกาสสัมผัสพระนิพพานได้อย่างนี้ เราจึงเห็นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทันทีว่า พระนิพพานไม่ใช่จิต, ไม่ใช่เจตสิกอันเกิดอยู่กับจิต, ไม่ใช่รูปธรรม, ไม่ใช่โลกบ้านเมือง, ไม่ใช่ดวงดาว, ไม่ใช่อยู่ในเรา, ไม่ใช่เกิดจากเรา, ไม่ใช่อะไรปรุงขึ้นทำขึ้น, พระนิพพาน เป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาสัมผัสดวงใจเรา ในเมื่อเราได้ดำเนินการปฏิบัติธรรมถึงที่สุด เท่านั้นเองฯ 

19. พระนิพพาน เป็นสภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็น “สิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง” อย่างน่ามหัศจรรย์, เป็นสภาพซึ่งแม้จะพูดว่ามีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงก็ยังน้อยไป, พูดว่า อยู่คู่กับสิ่งทั้งปวง ก็ยังน้อยไป, เพราะเป็นสภาพที่เป็นอยู่เช่นนั้น โดยตัวเอง จนตลอดอนันตกาล เราจึงกล่าวได้แต่เพียงว่า พระนิพพาน คือ อมตธรรม หรือสิ่งที่ไม่มีการตายฯ 

20. จิตพบกันเข้ากับอมตธรรมได้จริง ในเมื่อจิตนั้นบริสุทธิ์ถึงที่สุด, แต่จิตเอง หาใช่อมตธรรมไม่ พระนิพพาน คือสิ่งที่มีอยู่สำหรับจิตให้พบ แล้วจิตนั้นจะได้รับความบริสุทธิ์สะอาดอย่างสุดยอด, ความสว่างอย่างสุดยอด และความเยือกเย็นเป็นสุขถึงยอดสุดได้ เพราะเหตุนั้นฯ 

21. ทุกคน ควรพยายามทำจิตของตนให้กับอมตธรรมเสีย ก่อนแต่จะตายลงไป ถ้ามัวปล่อยให้จิตท่องเที่ยวไปด้วยความบอดของมันไปตามเดิม มันก็จะเที่ยวไปด้วยอาการอันซ้ำซากเช่นกับที่เคยเที่ยวมาแล้ว ไม่รู้กี่แสนชาติ ในวัฏฏสงสารอันยืดยาวนี้ฯ 

22. การเกิดแล้วตาย – เกิดแล้วตาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในระหว่างเกิดตายก็เต็มไปด้วยความกดทับ วุ่นวาย นั่นมันจะดีอะไร, เพราะมันเป็นไปตามประสามืดบอด เช่นเดียวกับการล้มลุกคลุกคลานของคนตาบอด ซึ่งปราศจากไม้เท้าและผู้จูงฯ

23. การลืมตา และพบกับแสงสว่าง กล่าวคือ พระนิพพานนั้นมันเป็นสุดยอดของความสุข, เป็นความหยุดจบลงของความอยาก ความปรารถนา, เป็นความหมดสิ้นของความสงสัยในสิ่งที่อยากรู้, เป็นยอดของความรู้ของทุก ๆ โลก ทุก ๆ สมัย และทุก ๆ คน เพราะฉะนั้น เพียงเท่านี้ ก็แสดงให้เห็นได้บ้างแล้วว่าพระนิพพาน คือจุดปลายทางของชีวิตทุกชีวิตฯ 

24. ทุกคนต้องถึงพระนิพพาน ทุกคนต้องลุถึงพระนิพพาน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง, ทั้ง ๆ ที่ในบัดนี้ จะเป็นคนโง่หรือคนฉลาดก็ตาม ทุกคนจะจบการเดินทางของเขาลงในชาติที่บรรลุพระนิพพาน, ในชาติที่ตาภายในของเขาหายบอด; เพราะทุกคนมีที่สุดแห่งสงสารวัฏของตน ๆ เว้นแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นฯ 

25. ทุกคน ถูกธรรมชาติฝ่ายสูง ค่อย ๆ พยุงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงที่สูงสุดเข้าสักวัน จะช้าหรือเร็ว ย่อมแล้วแต่ความหนักมากหนักน้อยของเขาเอง, มันเป็นน้ำหนักแห่งความโง่หรือกิเลส หรืออีกอย่างหนึ่งคือ แล้วแต่ความบอดมาก หรือบอดน้อยของเขานั้นเองฯ 

26. ทุกคน แม้ในบางคราวจะกลับมีการกลับตกต่ำบ้าง ทางกายหรือทางจิตขณะที่ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร, แต่ตารางที่แสดงงบยอดใหญ่ของเขาจักต้องเลื่อนสูงขึ้น ๆ เสมอ, แม้เขาจะเคยดิ่งลงสู่อเวจีครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้งแล้วก็ตามฯ 

27. ทุกคน ย่อมไปตามคติและผลกรรมของตนเองนั้น ก็จริงอยู่ แต่ที่เขาเกิดครั้งหนึ่ง ๆ นั้น มันเป็นการศึกษาของเขาทุกครั้ง แม้ในบางชาติเขาจะเป็นเด็กดื้อ แต่ในภายหลังหรือชาติหลัง ๆ เขาย่อมเข็ด ทั้งที่ตามธรรมดาเขารู้สึกราวกะว่า ชาติก่อน ๆ ที่เขาเคยเกิดมาแล้วนั้น ไม่มีอะไรติดต่อสืบเนื่องกันเลยฯ 

28. ตามแนวแห่งพุทธศาสนา คือกฎแห่งปัจจัย 24 ประการ หรือปฏิจจสมุปบาท ก็ตาม, ตามกฎวิวัฒนาการของ ดารวิน ก็ตาม, แม้ที่สุดแต่ตามที่เขาสังเกตเอาง่าย ๆ ทั่วไปว่าโลกนี้ค่อย ๆ เลื่อนระดับสูงขึ้น ๆ ไม่ ทางฝ่ายรูปธรรม ก็ต้องฝ่ายจิต, อย่างนี้ก็ตามทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงว่าสัญชาตญาณที่เป็นภายใน รวมทั้งสิ่งส่งเสริมภายนอก ล้วนแต่จะดึงไป ในฝ่ายดีขึ้น ๆ ทั้งนั้น เพราะตัณหาของปวงสัตว์เป็นเช่นนั้นฯ 

29. โลกนี้ทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายจิต ย่อมวิวัฒน์สูงขึ้น, ที่จะหยุดนิ่ง หรือตกต่ำลงเป็นไม่มี, เมื่อใดโลกพากันหนักไปในทางฝ่ายรูป ก็จะถึงจุดปลายทางของฝ่ายรูป ดังเช่นวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน กำลังก้าวพรวด ๆ ไป, และเมื่อใดโลกพากันหนักไปในทางฝ่ายจิต ก็จะพากันลุถึงจุดหมายปลายทางฝ่ายจิต เช่นเดียวกับยุคแห่งพระอรหันต์ที่ผ่านพ้นมาฯ 

30. แม้บัดนี้ โลกจะเป็นเด็กดื้อ ดันทุรังพากันเหเอียงไปทางฝ่ายรูป ทุ่มเทความนิยมเห่อเหิมไปทางวัตถุ อย่างไรเสีย เมื่อเข็ดฟันเข้า ก็ย่อมหมุนกลับไปสู่ฝ่ายจิตเอง และในยุคนั้นแหละ จะมีสัตว์จำนวนมากจำนวนหนึ่งพากันหลุดพ้นออกไปจากโลกได้ ทุกคราวที่โลกหมุนมาสู่ราศีนี้ฯ 

31. ถ้าจะรวมเค้าความที่ใหญ่ที่สุด ให้สั้นที่สุดแล้ว เราจะกล่าวได้พร้อมทั้งเหตุผลว่าสัญชาตกายสิทธิ์ของสัตว์โลกทั้งมวลย่อมหมุนไปหาฝ่ายดี ไม่ฝ่ายรูปก็ฝ่ายจิต ในสองอย่างนี้เท่านั้น, เมื่อทุกคนมีอำนาจ”กายสิทธิ์” อันนี้อยู่ในตัว, มันก็เป็นการแน่นอนว่าจะต้องถูกดึงดูดเข้าหาสถานะที่ถึง หรือพบพระนิพพานฯ 

32. ทุกคนเมื่อได้ออกโรง เป็นตัวละครโลกในฉากที่เขาทะเยอทะยาน กระลิ้ม กระเหลี่ย ใคร่จะแสดง, ครั้นซ้ำซากเข้า ก็เบื่อโลกซึ่งเรียกว่ามี “นิพพิทา” เข้าสักวันหนึ่ง, ในวันนั้นแหละ, เมื่อหน่าย ก็คลายความกอดรัดยึดถือ, เมื่อไม่ยึดถือ ก็หลุดพ้นจากเปลือกหุ้ม และพระนิพพานก็เข้าสัมผัสกับจิตของเขาได้ขณะนั้นทันทีฯ 

33. เรารู้จักเรื่องราวความเป็นมาในการแสดงละครโลกของเราได้ ด้วยสายตาสั้น ๆ แค่ชาติเดียวนี้ จึงจับเค้าเงื่อนและอาการของความอยากความเบื่อ ที่มีสายสัมพันธ์อันยืดยาวหลายร้อยชาติที่ผ่านมาแล้วนั้นไม่ได้, ถ้าหากเรามีสายตายาวมองเห็นได้ข้ามชาติแล้ว เราก็ต้องฉลาดมากกว่านี้ หลายเท่านักฯ 

34. คนเราสมัยนี้ แม้จะเคยเห็นเด็กบางคน พอเกิดมาถึง ก็เบื่อกาม มีโลภ โกรธ หลง น้อยกว่าธรรมดา, เราก็หาเข้าใจไปในทำนองว่าเป็นผลของชาติก่อน ๆ ของเขาไม่ มิหนำซ้ำ ยังเห็นไปว่าเด็กคนนั้นมีสมองไม่สมประกอบเสียอีกฯ 

35. คนโดยมาก ไม่สมัครที่จะสนใจคิดนึกในสิ่งที่เป็นผลเหลืออยู่ หลังจากตนได้เวียนว่ายมาแล้วหลายต่อหลายชาตินั้น, ซ้ำยังไม่อยากสร้างสายตาชนิดนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่รู้จักบ้าง เพราะกลัวว่าโลกนี้จะหมดรสชาติที่หอมหวลรื่นรมย์บ้าง, แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นแหละ ก็ตกอยู่ในจำพวกที่ถูกพัดพาไปหา พระนิพพานดุจเดียวกัน, เพราะไม่มีอะไรจะมามีอำนาจยิ่งไปกว่าผลกรรมอันปรุงสัญชาตญาณ และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าความจริงอันไม่รู้จักแปรผันนั้นเลยฯ 

36. ถ้าจะมีใครเกิดคิดว่า ก็เมื่อเราทุกคนแน่นอนว่าต้องถึงพระนิพพานวันยังค่ำแล้ว เราจะต้องไปขวนขวายปฏิบัติธรรมให้เหนื่อยยากทำไม, สู้เอาแต่ความสนุกสนานทางโลกไปเรื่อย ๆ ไป จนกว่าจะถึงกำหนดที่ถึงเข้าเอง จะมิดีกว่าหรือ จะมิเป็นการฉลาดกว่าหรือ ดังนี้ ก็ควรจะคิดให้รอบคอบเสียให้ดี ๆ ก่อน ที่จะลงความเห็นชั้นเดียว ตื้น ๆ เช่นนั้นฯ 

37. เป็นเรื่องแน่นอนและเป็นจริงอยู่ ที่ทุก ๆ คน กำลังเป็นไปตามวิถีชีวิตของตน ๆ อยู่เองแล้ว โดยไม่ต้องตั้งปัญหาหรือคิดไปว่า เราควรชวนกัน ดำเนินไปในรูปปล่อยตัวกันอีก, เพราะเราเอง ไม่รู้สึกต่างหาก จึงกลับมาตั้งปัญหาหรือคิดว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทับลงไปอีก เรายังตาบอด ยังกำลังปล่อยให้เรื่อยไปตามใจเราอยู่ ตลอดสายเส้นทางที่ผ่านมาฯ 

38. ตามธรรม คนเราสมัครทำอะไรลงไปก็ไม่มีอะไรที่มีอำนาจบันดาลให้ทำ มากไปกว่า “ความรู้สึก” หรือ “ความเห็นแจ้ง” ภายในจิตเราเอง สำหรับในขณะนั้น ๆ สมัยนั้น ๆ ระดับจิตใจหรือความรู้สึกนี้เอง มันบังคับควบคุมให้เราดำเนินไป ๆ ในรูปนั้น ๆ อย่างเต็มเปี่ยมอยู่เองแล้ว, การที่จะมาทำตามความคิดแนวใหม่นั้นอีก จึงไม่เป็นการแปลกกว่า หรือฉลาดกว่า แต่อย่างใดเลย นอกจากจะช่วยทำให้แชเชือนยิ่งไปกว่าธรรมดาหรือตามที่ควรเป็นเสียอีกฯ 

39. ถ้าหากว่ามีผู้วิเศษคนหนึ่ง อาจบันดาลให้เราถูกสลากกินแบ่งรางวัลจำนวนล้าน ๆ ได้ตามแต่ทางฝ่ายเราประสงค์จะให้ถูกเมื่อไร เช่นนี้ เราควรรีบขอร้องให้ท่านผู้วิเศษนั้นบันดาลเพื่อให้ถูกในวันพรุ่งนี้ หรือต่อเมื่ออีกสัก 50 ชาติล่วงไปแล้ว, ข้อนี้ทุกคนก็ต้องตอบว่าย่อมขอให้ถูกพรุ่งนี้ หรือให้เร็วกว่านั้นอีก, ทั้งนี้เพราะว่า เรารู้จักมองเห็นคุณค่ายิ่งใหญ่ของจำนวนเงินก้อนมหึมานั้น อยู่ชัด ๆฯ 

40. สิ่งใด ที่เรา “อยาก” มากที่สุด ก็คือ สิ่งที่เราเข้าใจและรู้จักในสิ่งนั้น (แม้จะเป็นการเข้าใจ รู้จักที่ถูกต้อง หรือผิดก็ตาม) ว่ามันดี มันประเสริฐหรืออร่อยสุด นั่นเอง. คนตาบอด มองไม่เห็นแสงแห่งพระนิพพานจะเกณฑ์ให้ปรารถนาพระนิพพานได้อย่างไร, แม้จะทำความตั้งใจเอาเองว่าจะปรารถนา ก็จะสามารถเห็นคุณค่าของ “การลุถึงพระนิพพาน” ว่ามีค่าสูงสุดกว่าสิ่งอื่นใด ได้อย่างไรฯ 

41. ถ้าคนเรารู้จักและเข้าใจพระนิพพาน มากและแจ่มแจ้งเท่า ๆ กับที่เคยรู้จักและเข้าใจค่าของน้ำเงินจำนวนล้าน ๆ นั่นแล้ว เขาก็จะต้องรีบขอให้ท่านผู้วิเศษบันดาล เพื่อลุถึงพระนิพพานในนาทีนี้ วินาทีนี้ ทีเดียว, แม้จะถูกผลัดพรุ่งนี้ ก็ยังไม่พอใจฯ 

42. พุทธบริษัทจำนวนมาก มีความอยากไปนิพพาน ต้องการพระนิพพานทั้งที่ยังไม่ทราบว่า พระนิพพานคืออะไร หรือมีความรู้บ้างก็น้อยเกินไป รู้เพียงสักว่าเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทุก ๆ คนเขาพากันว่าดีที่สุดเท่านั้น. ทั้งนี้ก็เพราะเขาไม่สามารถเข้าใจพระนิพพานอันมีนัยลี้ลับ แม้จะหยั่งรู้จักโดยอนุมาน หรืออุปมานก็ไม่อาจมีได้ง่าย ๆ เลยฯ 

43. สำหรับพุทธบริษัทที่ยังไม่รู้จักพระนิพพาน แต่ปรารถนามุ่งหน้าสู่พระนิพพานนั้น จะต้องมีนิพพานตามทรรศนะของตน ๆ ไปก่อน ซึ่งอาจเป็นพระนิพพานที่มีลักษณะและรูปร่างเป็นตัวตน และมีอะไร ๆ ให้ตนได้อาศัยยึดถือไปพลาง ๆ ก่อน. เพราะถึงอย่างไร ก็เป็นการดีกว่าที่จะไม่มีอะไร มีแต่วาง ๆ จับ ๆ อยู่แต่ในสิ่งที่ตนสงสัย และเต็มไปด้วยความว้าเหว่ หรือความหวาดกลัวอันเป็นทุกข์ และในที่สุดก็จะตายเปล่าฯ 

44. พุทธบริษัทที่ไม่ประมาท ย่อมถือเอาพระนิพพานของตน ๆ ไปก่อน แล้วแต่กำลังความแจ่มแจ้งในความหมายของความดับทุกข์ และพร้อมที่จะเลื่อนขั้นให้แจ่มแจ้งลึกซึ้งในพระนิพพานให้ถูกตรงยิ่งขึ้น ๆ ไป เช่น หมั่นบำเพ็ญประโยชน์โลกนี้ แล้วขึ้นถึงประโยชน์โลกอื่น และในที่สุดค่อยก้าวคืบหน้าถึงประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน. มิเช่นนั้นแล้ว จักทำให้การเดินทางกลับช้าไปอีกฯ 

45. พระนิพพาน เป็นจุดปลายทางของทุกคน เป็นเครื่องดึงดูดให้ทุกคนเข้าหาสถานะแห่งพระนิพพานอยู่เสมอ ทั้งสัญชาตญาณของทุกคน ก็อยากเป็นอิสระ อยากหลุดออกไปให้พ้นอยู่เสมอด้วย, แต่ถูกอำนาจแทรกแซงบางอย่าง เช่นผลกรรมเป็นต้น คอยเหนี่ยวออกนอกทางอยู่เสมอเหมือนกัน, ทั้งนี้เพราะตนเป็นผู้ตาบอด ไม่รู้จักทำความปลอดภัยให้แก่ตัวเอง หรือให้แก่การเดินทางของตนนั้นเองฯ 

46. กาย เปรียบเหมือนลำเรือ, ใจ เปรียบเหมือนนายเรือ, สังสารวัฏ เปรียบเหมือนทะเลหลวง, โลกนั้นโลกนี้ ที่เราไปผุดเกิดวนเวียนนั้น เปรียบเหมือนท่าเรือสำหรับทำการค้าขาย, ผลบุญ ผลบาป ในชาติหนึ่ง ๆ ในโลกหนึ่ง ๆ คือกำไรขาดทุนในการค้าของนายเรือ ตามท่าเรือแต่ละแห่งที่ผ่านไป, การได้ลุถึง “เกาะ” แห่งหนึ่ง ซึ่งนายเรือนั้นพอใจ ถึงกับหยุดการท่องเที่ยวไปในทะเลอย่างเด็ดขาด นั่นคือ พระนิพพานฯ 

47. ทุกคนคือเรือรวมทั้งนายเรือ เมื่อเราหรือโลกพากันสาละวนแต่เรื่องรูป หรือลำเรือจนลืมใจหรือนายเรือ, นายเรือก็จะตายเสียก่อนที่จะนำเรือไปพบเกาะที่มุ่งหมาย. แต่ถ้าสนใจในนายเรือหรือจิต จนลืมลำเรือเสียทีเดียว เรือก็จะเปื่อยพังทำลายลงเสีย ก่อนที่นายเรือจะได้ใช้อาศัยไปถึงเกาะที่เป็นจุดหมายปลายทาง. เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ดำเนินสายกลาง อันเป็นสายแห่งปัญญา ไม่ประมาทไปในฝ่ายตึงหรือฝ่ายหย่อนฯ 

48. ตามที่เป็นจริงนั้น “ตัวเรา” ไม่มี ที่รู้สึกเอาเองว่ามี ก็คือเบญจขันธ์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กายกับจิต” หรือเรือกับนายเรือ เท่านั้น, นายเรือ ก็ไม่ใช่เรา, เพราะแม้มันจะได้ถึงเกาะ คือ พระนิพพานนั่นหรือไม่ก็ตาม มันยังคงไม่อยู่ในอำนาจของใคร รังแต่จะแตกดับไปเป็นธรรมดาของมันเท่านั้นฯ 

49. เกาะ หรือพระนิพพาน ที่นายเรือหรือจิตลุถึงนั้นเล่า ก็สักว่าเป็นเกาะหรือพระนิพพานของตัวสิ่งนั้นเอง รับรู้กับใครไม่ได้, เพราะฉะนั้นจึงจะถือว่าเป็นเราไม่ได้. เหมือนแสงสว่างคือถ้าเราเปิดหน้าต่าง มันก็สาดส่องเข้ามา ถ้าเราปิดเสียก็มืดอีก, แต่แสงสว่างนั้น ก็คงเป็นแสงสว่างอยู่นั่นเองฯ 

50. สิ่งใดควรถือว่าเป็นตัวตน สิ่งนั้นนอกจากจะต้องไม่รู้จักแตกดับ ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นแล้ว, ยังจะต้องอยู่ในบังคับและรับรู้อะไรกันได้, นี่ เมื่อมีแต่สิ่งทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นไปตามเรื่องของต้นเหตุของตัวมันเอง หรือไม่อยู่ในอำนาจของใครและรับรู้อะไรแก่ใครไม่ได้ดังนี้ มันก็ไม่มีตัวตนแม้กระทั่งพระนิพพาน, ถ้าขืนมี เพราะอำนาจความรู้สึกบางชนิด นั่นก็หาใช่ตัวตนอันแท้จริงไม่ ยังเป็นฝักฝ่ายแห่งอวิชชาอยู่ดีฯ 

51. เบญจขันธ์ คือกายกับใจ กลุ่มใด ยังมีอวิชชาอยู่ เบญจขันธ์กลุ่มนั้นก็มีอุปทานอันเป็นเหตุให้ยึดถือตัวเองว่าเรา เราเป็นเรา ฉันเป็นฉัน ฯลฯ เป็นต้น “เรา” จึงคงอาศัยมีอยู่ได้ แต่ในกลุ่มเบญจขันธ์ที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น. เบญจขันธ์ชนิดที่ยังมีอุปาทานนี้ ยังสัมผัสไม่ได้กับพระนิพพานจึงต้องเต็มไปด้วยทุกข์กลิ้งเกลือก กระเด็นกระดอนไปในวัฏฏสงสาร อันสูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ระเกะระกะไปด้วยเสียงเสียบแทงเผาลนฯ 

52. เบญจขันธ์ใด ภายหลังจากได้ช่วยตัวมันเองด้วยการปฏิบัติธรรม เป็นเบญจขันธ์ที่อวิชชาและอุปาทานตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีความรู้สึกว่า “เรา” ในเบญจขันธ์นั้น. เบญจขันธ์นั้นจึงเหมาะพอ สำหรับการสัมผัสกันเข้ากับพระนิพพาน, จนกว่าเบญจขันธ์กลุ่มนั้นเอง จะแตกดับไป อย่างไม่เหลือเชื้ออะไรไว้สำหรับการเกิดอีก ตามธรรมดาของความเป็นสังขารของมันฯ 

53. การปฏิบัติธรรม หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อริยมรรคมีองค์แปด” นั้น เป็นตัวทางให้ถึงพระนิพพาน. เราท่านทุกคนขณะนี้จะยังอยู่ห่างไกลต่อพระนิพพานเพียงใดนั้น ยากที่ผู้อื่นจะรู้แทนกันได้ นอกจากตัวเราเอง. เหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้อย่างน่าจับใจว่า “ธรรมทั้งหลายกระทั่งถึงพระนิพพานเป็นที่สุดนั้น เป็น “สันทิฏฐิโก” คือ ของใคร ใครเห็น ดังนี้. สำหรับในที่นี้สามารถเพียงแต่ขอยืนยันว่า ทุกคนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่พระนิพพานเท่านั้นฯ



ผู้ตั้งกระทู้ wisarn :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-29 19:06:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3380176)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สาธุชน วันที่ตอบ 2013-11-17 09:04:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.