ReadyPlanet.com


พระนิพพานธรรมไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย....


 หลวงปู่หล้า เขมปัตโต 

ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒๓)


คำถาม :

ดิฉันขอกราบรบกวนถามหลวงปู่ว่าการปฏิบัติภาวนา จะต้องพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมทั้ง ๔ อย่างใช่ไหมเจ้าค่ะ สำหรับกาย เวทนา จิตดิฉันพอเข้าใจ ส่วนธรรมนั้นดิฉันคิดเอาเองว่า จะต้องพิจารณาจากธรรมชาติที่เห็นอยู่เป็นประจำ เช่นเห็นใบไม้ที่ล่วงลงมาจากต้น ดิฉันก็พิจารณาว่าก่อนที่มันจะล่วงลงมา มันเคยเป็นใบอ่อนๆ เมื่อใบมันโตขึ้นสีก็ค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อเซลของมันตายแล้วมันก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อธาตุน้ำในใบของมันแห้งหมดก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งกรอบล่วงลงสู่พื้นดิน ในไม่ช้าก็แตกละเอียดเป็นผุยผง ที่สุดก็กลายเป็นดิน

ย้อนมาดูตัวของเราเมื่อแรกเกิด ผิวเนื้อก็แดงระเรื่อพอโตขึ้นผิวก็เปลี่ยนเป็นสีขาวเหลือง ถ้าถูกแดดถูกลมมากๆ ก็เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ พอเข้าสู่วัยชราผิวหนังก็จะตกกระเป็นไฝฝ้าจุดด่างดำทั้งตัว ทั้งยังเหี่ยวย่นผมก็หงอกขาวตามัวหูตึงฟันหลุดหลังโก่งเรียวแรงไม่มีเดินเซไปมาในไม่ช้าก็ตาย เมื่อตายแล้วธาตุลมก็หมดไป ธาตุไฟก็ดับไปขึ้นอืดพองเน่าเหม็นเป็นอาหารของหมู่สัตว์และหนอน ส่วนที่เป็นของแข็งก็กลายเป็นธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลวก็กลายเป็นธาตุน้ำซึมลงไปในดิน นี่คือธรรมชาติไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทุกสิ่งเกิดขึ้นแปรปรวนไปดับสลายไปในที่สุด ดิฉันพิจารณาจากสิ่งที่เห็นอยู่เป็นประจำถูกต้องไหมเจ้าค่ะ ถ้าไม่ถูกหลวงปู่โปรดชี้แนะด้วยและจะพิจารณาอย่างไรเพื่อให้เกิดปัญญาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป หลวงปู่โปรดเมตตาด้วยเจ้าค่ะ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

การพิจารณาอย่างที่เล่ามานี้มันเป็นการถูกต้องแล้ว ขอให้พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ น้อมเข้ามาหาตัวบ้างน้อมออกนอกบ้างก็มีความหมายอันเดียวกัน ธรรมภายนอกที่น้อมเข้ามาหาตัวเรียกว่า “อัชฌัตตาธัมมา” ส่วนธรรมภายในน้อมออกไปข้างนอกเรียกว่า “พหิทธาธัมมา” และมีความหมายอันเดียวกัน

แม้ปัจจุบันที่กำลังเห็นอยู่จะเห็นพร้อมกับลมออกเข้าก็ยิ่งดี จะได้ไม่ติดอยู่ทั้งอดีตอนาคตทั้งปัจจุบันด้วย เรียกว่ารู้ตามเป็นจริงพ้นจากความสงสัยตามเป็นจริง ข้ามความหลงที่เคยหลงมาตามเป็นจริง ความหลงตัวมี ๔ ประเภท คือสำคัญว่าหนังหุ้มอยู่โดยรอบเป็นของสวยงามหนึ่ง เห็นสำคัญต่อไปว่าเป็นของเที่ยงหนึ่ง เห็นสำคัญว่าเป็นสุขหนึ่ง เห็นว่าเป็นตัวตนหนึ่ง

อนึ่งที่สงสัยว่าพิจารณา “ธรรม” นั้นเป็นอย่างไร ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าออก เห็นลมไม่เที่ยงแห่งหายใจเข้าออกก็เป็นการเห็นอนิจจัง แล้วก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้วก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา นี่เรียกว่าพิจารณาธรรมเรียกว่า “เห็นธรรมในธรรม” เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ก็เรียกว่าเห็นธรรมในธรรมเหมือนกัน คำว่าธรรมแปลว่าทรงอยู่


ธรรมมี ๒ ประเภทโดยย่อ ประเภทที่เราเห็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นประเภทของธรรมฝ่ายสังขาร เกิดขึ้นหาระหว่างมิได้แปรปรวนหาระหว่างมิได้ ความแก่ก็หาระหว่างมิได้ เราจะรู้ตามเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา ความเจ็บก็หาระหว่างมิได้ ความตายจากเช้า สาย บ่าย เที่ยง ก็หาระหว่างมิได้นี่ก็เป็นธรรมานุปัสนาเหมือนกัน เพราะรู้ตามเป็นจริงอยู่ในตัว ก็ตัดสินเผงว่า “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี่เรียกว่าธรรมฝ่ายสังขาร

ประเภทที่ ๒ ธรรมฝ่ายพระนิพพานนั้น เมื่อสิ้นความสงสัยในนี้แล้วจิตก็ไม่เพลินในสังขารทั้งปวง ไม่หลงในสังขารทั้งปวงนั้นคือประตูเข้าสู่พระนิพพาน เพราะหมดปัญหาที่จะผูกขึ้นในตัว

พระนิพพานธรรมไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย พระนิพพานไม่ใช่เห็นด้วยตานอกแต่เห็นด้วยตาในจนไม่มีที่หมาย ไม่มีท่านผู้ใดเข้าไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ไม่สำคัญตนเป็นผู้รู้และใจเป็นตน ก็จบปัญหากันเพียงนั้น ในพระพุทธศาสนาจบกันเพียงนั้น

ยกอุทาหรณ์ เพื่อให้เข้าใจชัด เมื่อดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่สำคัญตนว่าเป็นดิน เป็น น้ำ เป็นไฟ เป็นลม เมื่อมีผู้ใดไปทำอันตรายดิน น้ำ ไฟ ลมนั้นแล้ว ดิน น้ำ ไฟ ลมจะไปผูกเวรภัยกับใครเล่า แม้เขาจะไปขี้รดดิน น้ำ ไฟ ลม ก็คงจะไม่ยืนยันในโลภ โกรธ หลงอะไร เมื่อใจของพวกเราไม่เหมือนดิน น้ำ ไฟ ลมแล้วคอยรับคอยปัดอยู่ พวกเราก็ไม่พ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง จิตใจของพวกเราถ้าเป็นเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลมแล้ว ไม่มีใครให้คะแนนก็ตาม พวกเราก็ไม่มีวิญญาณปฏิสนธิในที่ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ข้ามความหลงโดยสิ้นเชิงไป ณ ที่นี้เอง.


via http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-lah/lp-lah_01.htm

 


ผู้ตั้งกระทู้ wisarn :: วันที่ลงประกาศ 2016-08-08 08:57:48


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.