ReadyPlanet.com


ศึกษาเรื่องธาตุเป็นอันดับแรกก่อน


 ศึกษาเรื่องธาตุเป็นอันดับแรกก่อน

 

จากหนังสือ  ก ข  ก กา ท่านพุทธทาส ภิกขุ

 

ท่านลองสังเกตดูให้ดีว่ามันมีความจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องเรียงลำดับกันอย่างนี้. เพราะว่า ธาตุ นี่ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นธาตุ - ธาตุ - ธาตุ - ธาตุ ไปไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยธาตุ ; แต่ที่สำคัญ ๆ ก็เช่น  ธาตุดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศ  วิญญาณ ,ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  นี้รู้จักกันดี. แต่ยังรู้จักกันผิด ๆ  ผิดอย่างน่าร้องไห้ที่รู้จักธาตุดินว่าคือก้อนดิน ,รู้จักธาตุน้ำว่าคือน้ำในโอ่ง ,รู้จักธาตุลมว่าลมอากาศที่หายใจออก-เข้า ,รู้จักธาตุไฟ  ที่ก่อติดขึ้นหุงข้าวอย่างนี้มันผิด ,

 

เพราะธาตุทั้ง ๔ นั้น มันไม่ได้หมายถึงตัววัตถุอย่างนั้น. นี้อยากจะขอบอกให้ทราบไว้  อีกทีหนึ่งด้วยว่า มีหลักที่ควรจะทราบไว้ว่าในพุทธศาสนานี้  ไม่มีหลักที่จะพูดถึงวัตถุเลย ;แม้จะพูดถึงวัตถุใด ๆ ก็ตาม จะเล็งถึงคุณสมบัติแห่งวัตถุนั้นมากกว่าที่จะเล็งถึงตัววัตถุนั้น.

 

ถ้าพูดถึงธาตุแล้วในทาง  ฝ่ายการศึกษาอย่างโลก ๆ  ในปัจจุบันนี้ แม้พวกฝรั่งที่เป็นคนยอดเยี่ยมในทางการศึกษาฝ่ายนี้ เมื่อพูดถึง  ธาตุ เขาก็หมายถึงตัววัตถุธาตุทั้งนั้น ,จะหมายถึงตัววัตถุ  ซึ่งเขาสมมติชื่อเรียกว่าธาตุนั้น ๆ ทั้งนั้นเลย. แต่ถ้าธาตุในพุทธศาสนา  แล้ว จะไม่ได้เล็งถึงตัววัตถุนั้นโดยตรง แต่จะเล็งถึงคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัววัตถุนั้น. ตัววัตถุนั้นไม่ต้องสนใจก็ได้ ,เพราะมันมีค่า เพราะมันมีคุณสมบัติชนิดนั้นอยู่. ดังนั้นจะเห็นได้ทันทีว่า พุทธศาสนานี้ มุ่งจะสอนเรื่องนามธรรมมากกว่า ;

 

เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าคุณสมบัตินั้น มันกระเดียดมาในทางเป็นนามธรรมแล้วมันไม่มีตัวตนที่จะจับฉวยโดยตรงได้. นี่แหละคือหลักสำคัญอย่างหนึ่ง  ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ แต่ก็เป็นขั้นต้นที่สุดในชั้นที่เป็น  ก ข  ก กา  ว่าพุทธศาสนานั้นมุ่งหมายจะชี้แจง  สั่งสอน  เปิดเผยในเรื่องฝ่ายนามธรรมหรือฝ่ายจิตมากกว่า.

 

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงธาตุเช่น  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ ก็จะเล็งถึงคุณสมบัติ ที่มีอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธาตุนั้น ๆ เช่นว่า  ปฐวีธาตุ  ก็แปลว่า  ธาตุดิน ,แต่มิได้เล็งถึงตัวดินโดยตรงโดยเฉพาะเจาะจงและเพียงเท่านั้น. แต่จะเล็งไปถึงคุณสมบัติที่เราจะเห็นได้ง่าย ๆ  ที่มีอยู่ในก้อนดินคือคุณสมบัติที่มันเป็นของแข็ง  มันกินเนื้อที่อย่างนี้เป็นต้น. คุณสมบัติที่ทำให้เกิดการกินเนื้อที่ หรือขยายเนื้อที่ออกไปนี้คือธาตุดิน.

 

อาโปธาตุ  ธาตุน้ำมันก็ได้แก่คุณสมบัติที่จะเกาะกุม  ไม่ให้กระจัดกระจายเช่นเดียวกับลักษณะของน้ำ เราจะเห็นว่า มันมีลักษณะกุมตัว เข้ารวมตัวกันเป็นหน่วยน้ำ หนึ่งหน่วยเสมอไป ,เว้นไว้แต่มันจะมีอะไรซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า  มาแยกมันออกไป. ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว น้ำนี้จะเกาะกุมเข้ามาหากัน คุณสมบัติอันนี้เรียกว่าธาตุน้ำ.

 

ธาตุลม ก็คือ  คุณสมบัติที่มันลอยได้  ระเหยได้  เคลื่อนไหวได้ มีความหมายเป็นคุณสมบัติของการเคลื่อนไหวไป.

 

เตโชธาตุ  ธาตุไฟก็คุณสมบัติที่มันเผาไหม้ทำการเผาไหม้แก่สิ่งอื่น หรือจะเรียกอีกทีหนึ่งว่าอุณหภูมิ. ถ้าอุณหภูมิหนึ่งมันสูงกว่าอุณหภูมิหนึ่ง มันก็เผาเอาอุณหภูมิที่ต่ำกว่า. ฉะนั้น อุณหภูมินั่นแหละ  คือความหมายของคำว่าธาตุไฟ ;แล้วมันจึงมีได้แม้ในน้ำ

 

น้ำเย็นที่เราดื่มเข้าไปแก้วหนึ่งอย่างนี้ มันก็มีธาตุไฟ  คืออุณหภูมิระดับหนึ่ง ,แล้วมันมีธาตุลม คือว่าในน้ำนั้นมีส่วนที่เป็นของระเหย  เป็นการระเหยได้ ,แล้วในน้ำนั้นก็มีธาตุดิน แต่มันละเอียดเกินไปกว่าที่เราจะเห็นได้. เพราะมันมีการกินเนื้อที่ มันเป็นอณูที่ละเอียดเกินไป แต่มันเป็นลักษณะของธาตุดิน, แล้วมันก็เป็นธาตุน้ำ คือมันเกาะกุมกันอยู่เหมือนกับว่า มันเป็นก้อนน้ำ ฉะนั้นในน้ำที่เราดื่มเข้าไปแก้วหนึ่ง มันก็มีครบทั้ง ๔ ธาตุ.

 

ทีนี้เราดูที่ก้อนดินก็มีลักษณะว่า มันกินเนื้อที่  นี้ก็เป็นธาตุดิน ก้อนดินนั้นก็มีน้ำเจืออยู่  แม้ว่าจะมองเห็นยากมันก็มีน้ำเจืออยู่ ปริมาณใดปริมาณหนึ่ง ,แล้วในดินนั้นก็มีคุณสมบัติที่ระเหยได้  คือมีธาตุลม ,แล้วในดินนั้นก็มีอุณหภูมิระดับใดระดับหนึ่งอยู่  มันก็มีธาตุไฟ ,หยิบดินมาก้อนหนึ่งในนั้นก็มีครบทั้ง ๔ ธาตุ ,ตักน้ำมาแก้วหนึ่ง น้ำแก้วนั้นมันก็มีครบทั้ง ๔ ธาตุอย่างนี้เป็นต้น

 

คือว่าพระพุทธศาสนามุ่งจะสอนส่วนที่เป็นนามธรรม  อันลึกกว่ารูปธรรมจึงเล็งถึงคุณสมบัติ. นี้ยกตัวอย่างมาเท่านั้น ถ้าจะพูดกันหมดก็เวลาไม่พอ  มันกินเวลามาก ,ยกตัวอย่างมาให้เห็นว่าเรายังเข้าใจเรื่องธาตุนั้นผิดอยู่อย่างไร. ส่วนอากาศธาตุนั้น ที่ว่างหรือความว่างหรือเป็นที่ว่าง  สำหรับให้ธาตุทั้งหลายอื่นตั้งอยู่ได้. ส่วนวิญญาณธาตุนั้นเป็นพิเศษคือ  ธาตุที่จะทำความรู้สึกให้เกิดขึ้นได้. ก็เป็น ๖ ธาตุด้วยกัน จาก ๖ ธาตุนี้มันก็ทำให้เกิดธาตุอื่น ๆ อีกมาก. ธาตุ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศ  วิญญาณ ๖ ธาตุนี้เท่านั้น แต่ทำให้เกิดธาตุอื่น ๆ อีกมาก ;

 

เช่น ให้เกิดธาตุตา  ธาตุหู  ธาตุจมูก  ธาตุลิ้น  ธาตุกาย  ธาตุใจ. คุณสมบัติหรือหน้าที่ที่จะทำได้  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก เป็นต้น นี้ก็ยังเรียกว่าธาตุ นี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหรือใช้  หรือทรงระบุอย่างนี้. แล้วก็ยังตรัสถึงธาตุรูป  ธาตุเสียง  ธาตุกลิ่น  ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ  ธาตุธัมมารมณ์  ข้างนอกที่มันจะมาเข้าคู่กันกับ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ นี้ก็เป็นธาตุ ทีนี้  ธาตุพวกข้างนอก  กับธาตุ  พวกข้างในมากระทบถึงกันเข้า มันก็ปรุงเป็นวิญญาณธาตุ หรือว่าทำให้  วิญญาณธาตุ  ปรากฏออกมา;

 

เมื่อตากระทบรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตานี้ วิญญาณธาตุปรากฏออกมาให้เห็นแล้ว. ธาตุเหล่านี้มันมีอยู่เป็นพื้นฐาน เมื่อได้โอกาส  ได้ปัจจัย  ได้อะไรต่าง ๆ มันก็ปรากฏออกมา เพราะมันทำหน้าที่ของมัน นี้เรียกว่าเรื่องธาตุ. ถ้าเรายังไม่รู้เรื่องธาตุอย่างนี้ก็เรียกว่ายังไม่รู้  ก ข  ก กา  ของปรมัตถธรรมของพุทธศาสนา ; แต่นี้คนโดยมากเห็นว่าเรื่องปรมัตถธรรมนี้  ไม่ใช่  ก ข  ก กา นั่นเพราะว่าเขาฟังไม่ดี.

 

อาตมากำลังบอกว่านี้มันเป็นเรื่อง  ก ข  ก กา  ของปรมัตถธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีเรื่องปรมัตถธรรมอะไรที่ไหน ,มันต้องมีเรื่อง  ก ข  ก กา  สำหรับศึกษาเรื่องปรมัตถธรรม. นี่เรารู้เรื่องธาตุอย่างนี้กันเสียให้ถูกต้องรู้ว่าธาตุนี้มันจะปรุงนั่นปรุงนี่ขึ้นมา ให้เป็นรูปขึ้นมา  ให้เป็นนามขึ้นมา. แต่ที่เป็นอยู่จริง  ในเนื้อตัวของเราวันหนึ่ง ๆ นี้ ธาตุเหล่านี้ มันปรุงอายตนะ ธาตุดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศ  วิญญาณนี้ มันจะปรุงอายตนะ คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ที่มีหน้าที่มีการกระทำหน้าที่ขึ้นมา ในวันหนึ่ง ๆ.

 

 

ธาตุปรุงอายตนะ  แล้วอายตนะปรุงขันธ์.

 

ทีนี้  อายตนะนี้มันทำหน้าที่ต่อไปอีกคือ จะปรุงให้ขันธ์ต่าง ๆ ปรากฏออกมา ซึ่งจะทบทวนกันอย่างสั้น ๆ อีกทีว่า เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดการเห็นทางตา  คือจักษุวิญญาณนี้ก็เกิดวิญญาณขันธ์ ส่วนน้อยขึ้นมา  ๓ ประการนี้ร่วมกันคือ ตา กับ รูป กับ จักษุวิญญาณ นี้ มาถึงกันเข้าแล้วเรียกว่าผัสสะ. เพราะ  ผัสสะเป็นปัจจัย  จึงเกิดเวทนา นี้คือเวทนาขันธ์ได้เกิดขึ้นมา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย.

 

ทีนี้  เวทนานี้เกิดแล้วเป็นความรู้สึก ชอบหรือไม่ชอบ  เป็นต้นบ้าง ก็มีความรู้สึกที่จำได้ว่าถูกใจ  นี้ถูกใจหรือนี้ไม่ถูกใจ แล้วสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็นอย่างไร ,นี้สวย  นี้ไม่สวย  นี้น่ารัก  นี้น่าพอใจ  นี้เราชอบ, นี้เราถือว่าเป็นของเรา  หรือแก่เรา  เพื่อเรา นี้เรียกว่าสัญญา มันก็เป็นสัญญาขันธ์เกิดขึ้น เพราะตาเห็นรูปนั้น. ถ้าเกิดสัญญาขันธ์อย่างนี้แล้ว มันก็เกิดสังขารขันธ์ คือความคิดไปตามอำนาจของความมั่นหมายนั้น ๆ :คิดจะได้  คิดจะมี  คิดจะเอา  คิดจะเป็น  คิดจะหา  คิดจะยึดครอง กระทั่งคิดจะลักจะขโมย ก็เรียกว่า  สังขารขันธ์เกิดแล้ว.

 

ส่วนรูปขันธ์นั้น เกิดแล้วตั้งแต่เมื่อตาทำหน้าที่ของตา หรือว่ารูปข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับตา อย่างนี้เรียกว่ารูปขันธ์เกิดแล้ว  ทั้งข้างนอกและข้างใน. ทีนี้ก็เลยรูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์ เกิดมาครบถ้วนตามลำดับตามหน้าที่  ตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าอายตนะ, คือธาตุ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ ที่ลุกขึ้นทำหน้าที่เป็นตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  โดยสมบูรณ์. แล้วอายตนะนี้ก็มาจาก  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  อากาศ  วิญญาณ ที่มันได้เหตุได้ปัจจัยมันปรุงแต่งกันขึ้นมา.

 

ธาตุช่วยให้เกิดอายตนะ ,อายตนะช่วยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าขันธ์. ทีนี้บางทีก็จะไม่พูดในลักษณะของขันธ์๕ พูดไปในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทก็มี ,เช่นว่าเวทนาเกิดแล้วก็เกิดตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  เป็นทุกข์ไปอย่างนั้นก็มี ,แต่เนื้อแท้ก็เหมือนกันกับขันธ์๕ บางทีก็แจกในระหว่างเวทนากับตัณหานั้นมากมายไปเสียก็มี , ไม่เป็นไรนั้นมันเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแต่ให้เรารู้ก็แล้วกันว่า ธาตุนี้มีส่วนช่วยปรุงอายตนะ อายตนะปรุงให้เกิดขันธ์.

 

 

จากขันธ์ปรุงเป็นอุปาทานขันธ์  ฯลฯ  กระทั่งถึงนิพพาน.

 

ทีนี้ถ้าว่าเมื่อเกิดขันธ์นั้น มันเกิดด้วยความโง่  คือ ความเผลอสติ แล้วขันธ์ที่เกิดนั้น  ถูกยึดถือด้วยอุปาทาน  ซึ่งมาจากอวิชชา. ที่จริงสิ่งนี้ก็เป็นสังขารขันธ์ เช่นอุปาทานอย่างนี้ ก็ต้องจัดเป็นสังขารขันธ์ ,คือความคิดที่ผิดชนิดหนึ่ง มันได้เกิดขึ้น แล้วยึดขันธ์๕ นั้น ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ว่าเป็นเราบ้าง  ว่าเป็นของเราบ้าง หรือยึดถือทั้ง ๕  ทั้ง ๕ ขันธ์ว่าเป็นเราบ้าง  เป็นของเราบ้าง นี้เรียกว่า  อุปาทานขันธ์เกิดแล้ว.

 

เมื่อตะกี้ เรียกว่าขันธ์เฉย ๆ เพราะไม่มีการยึดถือด้วยอุปาทาน. ทีนี้ในบางกรณีมันมีการยึดถือด้วยอุปาทานคือ  ในกรณีที่จะให้เกิดความทุกข์  นั่นแหละ จะต้องมีการยึดถือด้วยอุปาทาน  ที่มาจากอวิชชา คือความโง่. นี้ก็เรียกว่า  อุปาทานขันธ์  เป็นตัวทุกข์เสร็จไปตอนหนึ่ง เรื่อง  ก ข  ก กา  มันเสร็จไปตอนหนึ่ง ตอนที่ให้เกิดทุกข์  ขึ้นมาโดยสมบูรณ์.

 

ทีนี้มันก็มีหน้าที่ต่อไปที่จะดับทุกข์ มันก็ต้องตั้งต้นด้วยการรู้ การคิด การพยายามไปอีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม. เราจะต้องมีการปฏิบัติ ศีล  สมาธิ  ปัญญา แล้วก็จะได้ผลเป็นการบรรลุ มรรค  ผล นิพพาน ซึ่งโดยที่แท้แล้ว ก็เพื่อจะดับความทุกข์ ที่มาจากอุปาทานขันธ์นั่นเอง. เรื่องศีล  สมาธิ  ปัญญานี้ ก็เป็น  ก ข  ก กา  สำหรับที่จะบรรลุมรรค  ผล  นิพพาน คือฝ่ายดับทุกข์ ,แล้วมันก็ไม่มีที่ตั้งอะไรกันที่ไหน มันมีที่ตั้งที่นามรูป  ที่ร่างกาย ที่จิตใจ ที่ขันธ์ ๕ อีกนั่นเอง.

 

ถ้าทำให้ขันธ์ ๕ นี้  ไม่เผลอสติ ,ไม่ปราศจากสติแล้ว  ไม่มีอุปาทานยึดแล้ว มันก็เป็นขันธ์ ๕ ที่ไม่มีความทุกข์. และถ้ามันเป็นได้อย่างนี้ตลอดไป มันก็ไม่มีความทุกข์เลย ก็เรียกว่าเป็นขันธ์ ๕ ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน มันก็ไม่มีความทุกข์เลย. นี่เป็นขันธ์ ๕ อย่างของพระอรหันต์ซึ่งไม่มีกิเลสเลย ,เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายในระดับสุดท้าย.

 

นี้เรียกว่าเราไม่รู้เรื่อง  ก ข  ก กา  ของปรมัตถธรรม อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่าธาตุ  ว่าอายตนะ  ว่าขันธ์  ว่าอุปาทาน และว่าความทุกข์ทั้งปวง ; ฉะนั้น เรา ควรจะตั้งต้นเรียน  ก ข  ก กา โดยเฉพาะ  เรื่องธาตุ  เรื่องอายตนะนี้ กันเสียใหม่ แล้วก็จะรู้จักกิเลส  รู้จักอุปสรรค  รู้จักปัญหาต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วจะแก้ไขได้. สำหรับสิ่งที่เรียกว่าธาตุ นั่นแหละสำคัญที่สุด เพียงคำเดียวนี้จะเป็นความรู้ที่แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้หมด. เดี๋ยวนี้ เพราะเราไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุอย่างเดียวเท่านั้น เราจึงเป็นคนโง่ อย่างบรมโง่ , หรือจะว่า  โง่ ๆ  โง่ ๆ สักหมื่นครั้ง  แสนครั้ง  ก็ยังไม่คุ้มกัน. มันโง่เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุ.

 

ถ้ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปสักว่าธรรมชาติอย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีปัญหา. เช่น เราไปหลงรสอร่อยที่เกิดขึ้นทางเนื้อหนังเพราะการสัมผัสระหว่างเพศ ,  เพศหญิงชายนี้ก็เพราะโง่ในข้อที่ไม่รู้ว่าโผฏฐัพพธาตุนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เป็นสักว่าธาตุที่เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกฏเกณฑ์ ของธรรมชาติ, มันมีความรู้สึกในจิตใจอย่างนั้น ; แต่จิตใจนั้นมันโง่  มันไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ,มันจึงเห็นไปว่าโผฏฐัพพะที่เกิดขึ้นระหว่างเพศนั้น เป็นของประเสริฐ จนถึงกับหลงใหลบูชาต่าง ๆ นานา ยกขึ้นเป็นเรื่องประเสริฐที่สุดของมนุษย์ มันโง่สักเท่าไร ,จะใช้คำว่าโง่สักกี่ร้อย  กี่พัน  กี่หมื่น กี่แสนครั้ง จึงจะสมกัน เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุนั้นเพียงคำเดียวเท่านั้น.

 

รูปที่สวย ๆ นั้นก็คือ  รูปธาตุ ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุ ก็จะไม่หลงในความสวยของรูป ,เสียงที่ไพเราะนั้น  เสียงก็เป็นสัททธาตุ(สัททธาตุ มีหน้าที่กระทบ "โสตธาตุ" อันเป็นเหตุให้เกิด. "โสตวิญญาณธาตุ" )เป็นธาตุตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้ารู้ข้อนี้แล้ว ก็จะไม่หลงใหลในความไพเราะของเสียง ,กลิ่นที่หอมนั้นก็เหมือนกัน กลิ่นนั้นเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ถ้ารู้แล้วก็ไม่หลงในกลิ่นนั้น ,รสที่อร่อยที่ลิ้น ความอร่อยนั้น รสนั้นก็สักว่าธาตุ เรียกว่ารสธาตุ ,ถ้ารู้ว่าธาตุ ก็ไม่หลงในรสนั้น.

 

ทีนี้  โผฏฐัพพธาตุ  สัมผัสทางผิวหนังที่มีปัญหามากก็คือ สัมผัสระหว่างเพศ ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุ ตามธรรมชาติ ก็ไม่หลงใหล  ในโผฏฐัพพะนั้น. ทีนี้  ธัมมารมณ์จะยกตัวอย่างง่าย ๆ  เช่น  เกียรติยศชื่อเสียงนี้เป็นธัมมารมณ์  เป็นธัมมธาตุ. ถ้ารู้ว่าสักว่าธาตุตามธรรมชาติ คนก็จะไม่หลงใหลในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ,อย่างนี้เป็นต้น. นี้เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุ  ตามธรรมชาติ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ จึงได้หลงใหลอย่างหลับหูหลับตา.

 

ฉะนั้น คนที่เข้ามาอยู่วัดวันแรก เพื่อจะบวชในพุทธศาสนา เขาจึงให้เรียนบทพิจารณา เรื่องธาตุ คือบทที่เรียกว่า ยถาปจฺจยํ  ปวตฺตมานํ  ธาตุ มตฺตเมเวตํ  ยทิทํ  จีวรํ เป็นต้นนี้ ซึ่งแสดงความเป็นธาตุที่ภิกษุสามเณร  สวดกันอยู่ทุกวันนี้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ทราบ แต่ว่าสวดกันอยู่ทุกวัน. ถ้ารู้เรื่องความเป็นธาตุอย่างนี้ดีแล้ว คงไม่สึก เพราะมันไม่รู้มันจึงโง่ไปหลงในเรื่องหลอกของธาตุ มันจึงต้องสึก. นี้พูดโดยไม่ต้องเกรงใจจะเป็นเรื่อง  ก ข  ก กา  กี่มากน้อยก็ขอให้ลองคิดดูว่า มันมีความสำคัญเท่าไร. ฉะนั้นขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า ยถา~ปจฺจยํ  ปวตฺตมานํ ที่เขาเขียนให้เรียนในวันแรกที่เข้ามาอยู่วัดเพื่อจะบวชนั้นให้ดี ๆ. นี่ ก ข ก กา  ของปรมัตถธรรมมันเป็นอย่างนี้.

 



ผู้ตั้งกระทู้ วิศาล :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-09 17:36:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4040323)

 สาธุ

.. เข้าใจในความหมายของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขึ้นมากมายค่ะ .. ก่อนนี้ เข้าใจผิดมาเสียนาน

.. กราบขอบพระคุณ ค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Jing Naowarat วันที่ตอบ 2017-03-01 10:59:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.