ReadyPlanet.com


พระพุทธศาสนานั้น...เป็นศาสนาแห่งความจริง


 พระพุทธศาสนานั้น...เป็นศาสนาแห่งความจริง

 

โดย เขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)

 

พระพุทธศาสนานั้นเป็น ศาสนาแห่งความจริง และทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยสติปัญญาของตนเองจนได้ลิ้มอิสระด้วยตนเอง ดังนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างจากศาสนาอื่นที่เต็มไปด้วยการให้สัญญาว่าจะได้รับในสวรรค์ หรือกล่าวถึงรางวัลต่าง ๆ

 

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นการชี้ตรงไปสู่สภาวะที่เป็นอยู่จริงเช่นไร และตัวการปฏิบัติก็คือการตระเตรียมตัว มีสติสังวรที่จะรู้เห็นสภาวะที่เป็นอยู่แล้วแต่เดิมทีนั่นเอง 

 

ทางรอดจึงมีในตัวคนทุกคนแล้ว หากแต่เพราะความหลงผิดยึดติดและไม่รู้ตัวทำให้ทางรอดอันนั้นเสมือนถูกทอดทิ้ง แม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี

 

ด้วยเหตุนี้การเจริญสติ ความรู้ตัวให้ต่อเนื่องไป ก็คือกรรมวิธีที่จะเปิดเผยสิ่งซึ่งถูกปกปิดห่อหุ้มไว้ให้ได้รู้เห็น โดยไม่นำพาต่ออำนาจที่มองไม่เห็นตัวอื่นใด ถือเอาแต่การกระทำความรู้ตัวให้คุ้นเคยจนเป็นทางจำเพาะของปัจเจกบุคคล อันใครอื่นรู้เห็นแทนไม่ได้ ของใครของมัน 

 

กรรมวิธีอันนี้ย่อมเหนือหลักทฤษฎีต่างๆ ไม่ว่าทางศาสนา สังคม หรือ วิทยาศาสตร์ เป็นทางจำเพาะตัว ใครไม่เจริญสติก็ย่อมไม่รู้ความจริง

 

ยิ่งผู้คงแก่เรียนทางด้านปริยัติ และขาดการปฏิบัติด้วยแล้ว ธรรมที่ปากก็เป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนจากความจริง กลับเป็นความจริงกำมะลอ หรือสิ่งที่เทียมความจริง ซึ่งกลับเป็นสิ่งปิดบังความจริงเสียเอง

 

ปัจจุบันนี้ ในภาวะระส่ำระสาย-วิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรม กระทำให้มีการใส่ใจและมุ่งฟื้นฟูศีลธรรม จริยธรรม และธรรมปฏิบัติกันยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการแสวงหาที่พึ่งทางใจ ธรรมจึงถูกเผยแผ่ยิ่งกว่าสมัยใดก็ว่าได้ 

 

ทั้งมีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าอุ้มชู-อธิบายขยายอรรถหลักพุทธธรรมอย่างกว้างขวางและไปไกล เช่น หลักอนัตตาก็ถูกนักวิทยาศาสตร์หรือนักสอนศาสนาผู้รู้คดีโลก-รักคดีธรรม ใช้หลักวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เข้าอธิบายจนเลยเถิดไปว่า 

 

ชีวิตเป็นสิ่งไร้ตัวตนเป็นอนัตตาเพราะประกอบด้วยอนุภาคประจุไฟฟ้า หรือเห็นไปว่าชีวิตเป็นกระบวนการเคมีไฟฟ้า หรือคลื่นรังสีต่างๆ 

 

คำอธิบายเช่นนี้เป็นวิทยาศาสตร์ หาใช่ศาสนาไม่ ทั้งยังมีแนวโน้มตรงกันข้ามกับศาสนาด้วย เพราะทำให้ผู้เห็นคล้อยตามหมดความใส่ใจในความเป็นมนุษย์และมนุษยธรรมยิ่งขึ้นด้วยถือเสียว่า ชีวิตไม่มีอะไร ว่างเปล่าเป็นอนัตตา 

 

เห็นได้ว่าคำอธิบายเช่นนี้มีผู้อธิบายมาแล้วแต่ครั้งโบราณ ซึ่งนำความหายนะมาสู่ผู้เชื่อตามทีเดียว 

 

อนิจจังนั้นอธิบายว่า ไม่แน่นอนไม่เที่ยงแท้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำความวิบัติและพิการให้ศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งวิปริตเพี้ยนคิดคล้อยตามทางของภาษา อันผู้ไร้สติจับฉวยเอาแล้วจะให้ผลร้ายมากกว่าผลดี

 

แท้จริงหลักพระไตรลักษณ์นั้นไม่ใช่หลักคิดเห็น แต่เป็นหลักที่ผู้เจริญสติเห็นโดยไม่ต้องคาดคิด และเป็นการเห็นที่ตัวเองอย่างรู้ตัว เช่น สภาพไม่เที่ยงนั้นก็คือการเคลื่อนไหวอิริยาบถแปรไปต่างๆ รวมถึงการกระพริบตา กลืนน้ำลาย ก้มเงย ทั้งในอิริยาบถใหญ่ คือ ยืนเดิน นั่งนอน และอิริยาบถย่อยคู้ เข้า เหยียดออก รวมถึงการคิดนึก 

 

ผู้เจริญสติรู้เห็นเช่นนี้ จึงจะรู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงคิดเอาว่าเป็นทุกข์

 

ความรู้ตัวล้วนๆ เป็นธรรมกลาง ไม่โน้มไปทางใดโดยจำเพาะ เป็นธรรมชาติที่พื้นๆ ดาด และเป็นสาธารณะแก่ทุกรูปทุกนาม เรียกว่าเป็นแก่นสาร เป็นสภาพหลุดพ้นอิสระอยู่ทุกเมื่อ 

 

ธรรมชาติอันนี้ย่อมเป็นไปควบคู่กับการเคลื่อนไหวทุกชนิดในตัว ดังนั้นเมื่อมารู้ตัวเองก็หลุดพ้นจากสภาพมืด อันนี้ไม่เกี่ยวกับความคิดเรื่องไม่เที่ยง อัตตา อนัตตา แต่เป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือความคิด ไม่เกี่ยวกับถ้อยคำพร่ำสอนของใคร ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หรือสามัญสัตว์ 

 

การมุ่งขยายเรื่องไตรลักษณ์ให้ขยายคลุมจักรวาลนั้น ดูออกจะเกินเลยไปจนกระทำให้ผู้เกี่ยวข้องกลายเป็นนักคิด อันพัวพันอยู่กับปัญหาเรื่องโลกเที่ยง-ไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ชีวิตเป็นอันนั้นหรืออันอื่น ล้วนหาข้อยุติไม่ได้ ด้วยว่าล้วนเป็นสิ่งที่คิดเอาทั้งสิ้น กลับกลายเป็นเรื่องราวทางอภิปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือภววิทยา แทนที่จะดูเข้ามาที่ตัวเอง กลับคิดแล่นเลยหลักสติไป ซึ่งผู้รู้ถือกันว่าเป็นความประมาท 

 

การที่นักศาสนามุ่งประจบวิทยาศาสตร์ หรือนักวิทยาศาสตร์ประจบศาสนานั้น น่าจะมีผลดีต่อความประสานสอดคล้องกันและกัน กล่าวคือร่วมกันขจัดสิทธิความเชื่ออันงมงายไร้มูลสภาวะ ได้แต่เพียงชั้นปริยัติเท่านี้ ยังหาขจัดอวิชชารากเหง้าของปัญญาได้ไม่

 

เมื่อบุคคลหันมาปฏิบัติธรรมนั้น เขาต้องเริ่มต้นที่ส่วนปัจเจก ทำความรู้ตัวให้เป็นฐานเพื่อรู้เห็นความจริงๆ ที่ไม่อาจคาดคิดเองได้ 

 

การอธิบายธรรมให้รู้ล่วงหน้านั้นเองอาจกลับกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ไปเลยก็ได้ เพราะถูกหลอกหลอนด้วยสัญญา สร้างความรู้สึกและคิดเองเองโดยไม่รู้ตัว

 

สุดท้ายตกอยู่ภายใต้วงล้อมของลัทธิทีถ้อย ดิ้นไม่หลุด หันไปทางไหน ความคิดก็จับตัวไว้ และไม่อาจประจักษ์แจ้งต่อสภาวะตามที่เป็นจริงได้ ทั้งนี้เพราะติดคิดจนเลยเถิด

 

ธรรมะก็คือตัวเรานี่เองเห็นธรรมก็คือเห็นตัวเองว่าเป็นตามที่เป็นเช่นไร เป็นการเห็นด้วย สติ สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ด้วยการคาดคิดเอาซึ่งล้วนเป็นมายาหลอกหลอนทั้งสิ้น ดังนั้น การเจริญสติจึงกลายเป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนามาตลอดเพื่อการรู้แจ้งเห็นจริง เอาการเปิดเผยซึ่งปกปิดห่อหุ้มอยู่ เพื่อขจัดรากเหง้าของปัญหาเพื่อลุถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพื่อดับทุกข์ 

 

การกล่าวว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์นั้นนับว่าพลาดไป ข้ามขั้นตอนที่สำคัญที่สุดไป และอาจเป็นอันตรายได้ง่าย 

 

กล่าวคือ ปฏิบัติธรรมเพื่อรู้เห็น เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็พ้นทุกข์ไปไม่ได้ และเมื่อสุขเทียมเกิดก็จะหลงไหลว่าดับทุกข์ได้ แล้วไปก็ได้ เป็นการเพิ่มอุปาทานให้แน่นหนายิ่งขึ้น 

 

อนึ่ง การไม่ยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางก็พึงเข้าใจโดยนัยเดียวกันว่าอาจกลับกลายเป็นการยึดติด ในการไม่ยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางไปได้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะขาดรากฐานที่สำคัญ คือการเจริญสติเพื่อรู้เพื่อเห็นความจริงของชีวิต ตามที่เป็นจริงเช่นไรก็เช่นนั้นเอง

 

พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาพิเศษที่ไม่เหมือนศาสนาอื่นใด ที่ตั้งต้นตรงตัวเองเมื่อมีโอกาสฟังถึงธรรมชาติในตัวเอง จากการนั่งใกล้ท่านผู้รู้ และการทำความเพียรอันผิดจากความเพียรอื่น ในการเจริญสติสมาธิปัญญา จนหลุดพ้นในตัวเอง ลุถึงธรรมชาติแห่งความดับในตัวเอง 

 

จนกระทั่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็จากสาระแห่งการลุถึงธรรมชาติแท้ตัวเอง

 

 

(คัดลอกบางตอนมาจาก : คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๖ "ชีวิตกับความรัก"  โดย เขมานันทะ, พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๑๑-๑๙)

 



ผู้ตั้งกระทู้ วิศาล :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-10 18:40:32


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.