ReadyPlanet.com


กุญแจดอกสำคัญ


  กุญแจดอกสำคัญ

 

 

 

เขมานันทะ

(ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ)

 

"...เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องฟังเล่นเท่านั้นมีอยู่วันหนึ่ง ผมได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อให้อบรมบุคคลกลุ่มหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วัดสนามใน ตอนนั้นผมยังเป็นนักบวชอยู่ ผมก็เริ่มอธิบายเรื่องสติ การรู้สึกตัว แล้วก็ชี้แนะว่า สตินั้นเป็นปัจจุบันขณะ ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ ความทุกข์ก็จะจบสิ้นลง ผมเหลือบตาไปดูที่ชั้นบนของกุฏิที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ เห็นท่านนั่งฟัง เมื่อจบการแสดงธรรมกถานั้นแล้ว ท่านลงมาพูดกับผมเบาๆ ว่า "มันไม่ใช่เรื่่องปัจจุบัน ถ้ากำหนดจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ก็ติดอยู่เท่านั้นเอง ต้องไปให้พ้นจากปัจจุบัน"..."

 

"...ผมขอทบทวนพุทธภาษิตบทหนึ่งในเรื่องสติ (หมายถึงสติปัฏฐาน ๔) ว่าเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สิ้นทุกข์ และในบางที่บางแห่งหรือหลายแห่งนั้น ผมพูดรวบรัดว่า สติเป็นสิ่งที่ดี โปรดพิจารณาพุทธภาษิตที่ว่า "สติ มโต สุโว เสยโย เวรา น ปริมุจฺจติ ความดีย่อมมีแด่ผู้มีสติเป็นนิตย์ แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากเวรไปได้"..." 

 

"...ก่อนที่ผมจะหันมาศึกษาพุทธศาสนา ผมเคยจฟังอาจารย์หลายท่านบรรยายธรรมะเน้นหนักเรื่องสติ ท่านหนึ่งอธิบายว่า เมื่อราคะเกิดขึ้น ให้มีสติ พิจารณาว่า ราคะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผมก็เชื่อฟัง แต่หลายเดือนที่ผมเพียรตั้งสติ กำหนดรู้เช่นนั้น ผมรู้ว่ามันหนักมาก เพราะเมื่อเราไปรู้อะไร ก็จะติดอันนั้น จะจำฝังใจอันนั้น..."

 

"...หลายปีล่วงไป ผมไปมาหาูสู่กับหลวงพ่อ ไม่ใช่คำสอนของหลวงพ่อที่เป็นคำอธิบาย แต่เป็นกลวิธีหรือความกระฉับกระเฉงของหลวงพ่อเอง ผมค่อยๆ เรียนรู้ว่าการกำหนดสติเช่นนั้นใช้ไม่ได้ สติไม่อาจนำเราออกจากทุกข์ได้ ปัจจุุบันนั้นเองเป็นทุกข์ เราเป็นทุกข์เพราะติดอยู่กับปัจจุบันนั้นเอง ยิ่งการกำหนดรู้ด้วยแล้ว เราไปรู้อะไรเข้า ก็จะติดยึดอันนั้น ถ้ารู้ความสงบ ก็ติดสงบ เพราะยางเหนียวของตัณหายังไม่แห้ง รู้ราคะก็ติดราคะ คำพูดที่ว่า "กำหนดรู้" นั้นถูก แต่กำหนดรู้อะไร และอย่างไรล่ะ..."

 

"...เพราะฉะนั้นคำพูดที่ผมถือเป็นกุญแจดอกสำคัญยิ่งที่ออกมาจากปากของหลวงพ่อสู่ใจผมก็คือ รู้ แต่อย่าให้มันรู้อะไรเข้า ถ้ารู้อะไรเช่นความสงบปีติ ก็จะติดอันนั้นทันที แล้วมันจะหมุนกลับ คำพูดของหลวงพ่อนี้ก้องในใจผมตลอดเวลาที่ไปมาหาสู่ท่าน จนกระทั่งหลวงพ่อเองกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรู้ที่ไม่ต้องรู้อะไร เพราะรู้อะไรนี่ก็เป็นทุกข์เรื่องที่รู้ นอกจากรู้แล้วผ่านเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงพ่อย้ำบ่อย..."

 

"...หลวงพ่อได้เตือนผมหลายครั้งแล้วว่า จุดที่แก้ไขได้ยากที่สุดในการเจริญภาวนาให้ไปสุดสายก็คือการเพ่ง เพราะการเพ่งคือการสะกดจิตตัวเอง มันจะไปสงบ สงบแล้วก็ติดตัวนี้อยู่ ไม่สามารถหันกลับไปได้ เพราะเมื่อติดตัวสงบก็เกิดผู้ติดผู้ยึด และผู้ยึดก็พยายามยึดความสงบเป็นที่พึ่ง ความสงบที่ทำขึ้นนั้นไปสูงสุดก็แค่สงบ ท้ายสุดก็อ่อนล้า เกินนั้นไม่มี ความสงบชนิดนี้เป็นสิ่งชั่วคราว เมื่อหมดแรงยึดถือก็จะหลายเป็นความฟุ้งซ่าน ไม่แนบแน่นอยู่กับความจริงได้ ทั้งนี้เพราะไปเพ่งปักจิตติดอยู่กับอารมณ์ แทนที่จะอยู่เหนืออารมณ์ การกำหนดรู้เช่นนี้คือการยึดติดอยู่กลายๆ จุดนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญในวิถีทางที่หลวงพ่อสอนสานุศิษย์ของท่าน สำหรับหลวงพ่อนั้นไม่มีการกำหนดเป็นกรณี เพียงรู้แล้วผ่านเลย..."

 

"...เรามักได้ยินคำสอนว่า เมื่อราคะเกิด ให้กำหนดรู้ว่าราคะเกิดแล้วหนอ ก็ราคะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เป็นการย้ำคิด ผมเพิ่งมาเรียนรู้ช่วงหลังว่า อย่าไปสนใจกิเลส มันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ให้สนใจความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เพราะว่าในความรู้สึกตัวล้วนๆ นั้นไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ดังนั้นให้รู้สึกต่อสภาพไร้ราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็นต้นต่อแต่เดิม เมื่อรู้ผนึกแน่นอย่างนี้แล้ว พอกระทบกับอารมณ์ที่เป็นราคะ โทสะ โมหะ ก็จะไม่เอาเอง ไม่มีใครละราคะ โทสะ โมหะได้ ตัวละไม่ใช่เรา ตัวละคือความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ..." 

 

"...ผมจะเล่าเรื่องการชู้ตฟุตบอลของหลวงพ่อ วันหนึ่งผมนั่งนวดท่านอยู่ ท่านนอนหลับตา ผมก็นวดเรื่อยๆ ในใจนึกกระหยิ่มภูมิใจที่ได้รับใช้ท่าน เมื่อเห็นว่าท่านหลับ จิตใจที่ปลื้มก็ปลงลงสู่สภาพปกติธรรมดาๆ ทันใดนั้นหลวงพ่อลืมตาขึ้นมาทันทีแล้วบอกว่าให้ทำใจอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าท่านหลับ ที่จริงท่านไม่ได้หลับ จุดนี้ผมถือว่าเป็นการชู้ตลูกฟุตบอล ผู้ที่จะเล่นเกมนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันวาระจิต ไม่เช่นนั้นความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น เมื่อท่านลืมตาชี้นิ้วมา พร้อมกับบอกโดยย่อว่าให้ทำในใจอย่างนี้ ผมเห็นความปกติแวบเดียวนั้น เกิดความเข้าใจ เกิดความเห็นโดยตรง โดยไม่เกี่ยวกับคำบอกเล่าหรือความคิดใดๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความหมายของตัวหนังสือ แต่คืออาการทางจิตใจว่าเป็นปกติหรือไม่ ประการใด..."

 

"...ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวของหลวงพ่อนั้น มีอยู่แล้วในตัวเรา เมื่อเร้าให้กายจิตตื่นตัวขึ้น เราจะพบว่ามีพลังอำนาจอันเป็นไปโดยธรรมชาติที่จะขจัดปัดเป่าความทุกข์ทรมานเนื่องด้วยราคะ โทสะ โมหะ เราไม่มีเรื่องที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้น แต่ก็มีเรื่องหนึ่งซึ่งเราต้องขยัน คือความเพียรที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของหลวงพ่อ ความเพียรนั้นต้องต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็ไม่ถึงจุดแจ่มแจ้ง ดังนั้น การเร้าความรู้สึกตัวเอาชนะความคิดให้ได้ในทุกครั้งที่มันเกิด จนกระทั่งอยู่เหนือความคิด ชีวิตจึงจะล่วงภาวะเก่าได้..."




ผู้ตั้งกระทู้ หนวดเต่า (wisarn_it-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-11-02 04:38:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4405275)

 ทำไมในหลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก เขียนว่าปัจจุบันเท่านั้นที่ทำให้ออกจากทุกข์ได้ บทความเดียวกันแท้ๆ ทำไมมีการเปลี่ยนคำครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Present วันที่ตอบ 2022-12-16 19:33:26



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.