ทำบุญให้ถึงแก่น
จากมูลค่าของเงินที่ไหลเวียนอยู่ในการทำบุญของชาวพุทธ ด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเสาะหาผลประโยชน์จากบุคคลบางกลุ่ม กรณีของพระจัดงานบุญเรี่ยไรจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ บางครั้งถึงขั้นนำสวรรค์นำนิพพานมาขาย ในมุมมองของผู้ที่ดำรงอยู่ในแวววงพุทธศาสนาอย่าง หลวงพ่อทอง อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสนามใน ให้ข้อคิดว่า ถ้าพูดถึงเรื่องพระแสวงหาผลประโยชน์ก็เห็นจะพูดกันได้ไม่จบ
“หลายครั้งมันเกินความจำเป็น บางวัดสร้างกันจนไม่มีที่ยืนให้กับต้นไม้ มันโฆษณากันเกินไป เดี๋ยวก็สร้างเจดีย์ ศาลา เดี๋ยวก็สร้างอะไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันกลายเป็นทำให้คนโลภ คนไม่โลภในวัตถุ แต่โลภบุญ เรียกอีกอย่างว่า เมาบุญ จิตใจมันก็ตกต่ำเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตามเป็นข้อสังเกตว่า บางทีการทำบุญมากๆในสังคมไทย อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า เพราะผลประโยชน์ที่มากขึ้น ทำให้คนที่จิตใจอ่อนแออาจไหลเอนไปตามเงินที่มากองตรงหน้า
“ถ้าฝึกมาไม่ดี จิตใจอ่อนแอเรียกว่าเสียพระเลยนะ กลายเป็นทำให้พระโลภ แล้วพระก็นำให้คนโลภไปอีก บวชซื้อรถ บวชผ่อนบ้าน พระบางรูปทำเป็นธุรกิจเลยนะ พุทธศาสนาในสังคมไทยเป็นเรื่องของรูปแบบมากจนเกินไป”
โดยชาวพุทธในเมืองไทยนั้นการทำบุญ รักษาศีลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ยังขาดการปฏิบัติ ในที่นี้ก็คือการมีสติอยู่กับปัจจุบัน การตื่นรู้ในทุกขณะจิตของชีวิต รู้ถึงทุกข์ รู้ถึงเหตุแห่งทุกข์ แล้วถึงลงมือดับทุกข์ด้วยตัวเอง
“คราวนี้เราไม่รู้ คนไม่รู้ไม่เข้าใจ มันก็เดินผิดทิศหลงทาง ไปแก้กรรมบ้าง ไปสะเดาะเคราะห์ ศาสนาพุทธตอนนี้มันติดอยู่ที่พิธีกรรมมากจนเกินไป ถ้ารู้มีสติก็แก้ไขมันดำรงอยู่ในการใช้ชีวิตปกติ”
ในความเห็นของเจ้าอาวาสวัดสนามในมองว่า ทางออกนั้นต้องเริ่มจากคณะสงฑ์ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรนั่นคือการมุ่งเน้นที่การปฏิบัติ เพราะอย่างไรเสียพระก็ต้องเป็นฝ่ายนำผู้คนในสังคมให้ไปพบกับหนทางที่ถูกต้อง
“คือถ้าให้คนธรรมดาหันมานำพระ เลิกบริจาค คนธรรมดาก็จะรู้สึกบาป ไปเถียงพระ ดังนั้นพระต้องเป็นฝ่ายนำ”
ในวันพระใหญ่แต่ละวันนั้น หลวงพ่อทอง อาภากโรให้คำแนะนำง่ายๆว่า วันเหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายหนึ่งในการริเริ่มในการปฏิบัติธรรม
“ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องมีวัตถุเยอะแยะ ปฏิบัติก็คือให้เราอยู่กับตัวเอง มีสติ รู้ตัว แค่นี้ก็เป็นการกระทำบุญที่ถูกที่ตรง ไม่ต้องเอาวัตถุมากมายมาสักการะบูชา มันเป็นแค่ส่วนประกอบนิดหน่อย การปฏิบัติบูชาเป็นที่สุด ไม่ต้องมีการบริกรรมคาถา ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน การยืน การนั่ง การนอน การเดิน การพูด การเหยียด การเคลื่อน การไหวยิ่งเป็นบุญสูงเป็นบุญที่สุดเลย ให้เรามีสตินี่แหละ”